วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

โลกียอภิญญา....การฝึกกสิณและอานุภาพของกสิณ

ในภาพอาจจะมี กลางคืน
...โลกียอภิญญา....การฝึกกสิณและอานุภาพของกสิณ
  • วันนี้ก็มาว่าเรื่องของการฝึกเกี่ยวกับ กสิณทั้ง ๑๐ ของเราต่อไป เมื่อวานได้กล่าวไปแล้วถึง วรรณกสิณทั้งสี่ สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว
  • เรื่องของกสิณนั้น แม้ว่าจะเป็นกรรมฐานที่หยาบ มีนิมิต มีสัมผัสได้ จับได้ ต้องได้ แต่ว่ามันลำบากด้วย 
*การหานิมิตกสิณ* เพื่อที่จะใช้ในการเพ่งและพิจารณา
  • สำหรับวันนี้ก็จะกล่าวถึง ธาตุกสิณทั้งสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ กสิณทั้งสี่กองนี้เริ่มจาก 
  • ปฐวีกสิณ เราก็ต้องหานิมิตกสิณก่อน สมัยโบราณท่านบอกว่าให้ใช้ดินสีอรุณ คือสีเหลืองอมแดง เพื่อนำมาทำเป็นนิมิตกสิณ ต้องเอาดินมาละเลงบนผ้าสดึง 
  • แต่ว่าสมัยนี้ของเราถ้าทำอย่างนั้นได้ก็ดีแต่เนื่องจากว่าสมัยนี้บางทีการหา วัสดุมาทำมันยากอยู่สักนิดหนึ่ง เด็กรุ่นหลังๆ กระทั่งดินสีอรุณหรือดินขุยปูในลักษณะนั้นหน้าตาเป็นอย่างไรยังไม่รู้จักเลย เราก็ใช้ดินทั่วๆไป อาจจะเอามานวดมาปั้นก็ได้ ปั้นให้เป็นรูปกลมๆ ขนาดที่เราชอบใจก็ได้ หรือว่าจะปั้นให้เป็นสี่เหลี่ยมก็ได้ หรือว่าจะทำเป็นนิมิตกสิณอย่างของคนโบราณคือละเลงลงบนผ้าที่กว้างเมตรสองคืบสี่นิ้วก็ได้หรือว่าจะปัดกวาดสถานที่ใดที่หนึ่งให้สะอาด มองพื้นดินที่เห็นแล้วจับเป็นนิมิตกสิณก็ได้ สำหรับ
  • ธาตุน้ำ ง่ายสักนิดหนึ่ง เราใช้น้ำใส่ภาชนะ ใส่ขัน ใส่ถังอะไรก็ได้ที่เราจะสามารถนั่งแล้วมองได้ถนัด
  • เรื่องของ ธาตุลม สมัยก่อนท่านให้จับอาการไหวของพวกใบไม้ต่างๆ แล้วก็นำอาการไหวนั้นเอามาเป็นนิมิต แต่เนื่องจากว่าบางขณะลมสงัดถ้าหากว่านิมิตยังไม่ทรงตัวเราก็ทำต่อไม่ได้ จากที่เคยฝึกมาให้ใช้พัดลมเปิดเบาๆ ให้ลมนั้นกระทบร่างของเรา จับอากาศกระทบเป็นระลอกๆ ของลมนั้นเป็นนิมิตได้ หรือว่าถ้ามีความคล่องตัวแล้วใช้ลมหายเจ้าเข้าลมหายใจออกของเราเป็นนิมิตแทนก็ได้
  • ธาตุไฟ นั้น สมัยก่อนใช้ก่อไฟกองใหญ่ขึ้นมาแล้วก็เจาะรูที่ผ้านำผ้านั้นขึงอยู่หน้ากองไฟ มองเฉพาะไฟที่ผ่านจากรูกลมของผ้าเข้ามา แต่ว่าจริงๆ แล้วจะใช้แบบไหนก็ได้ จุดเทียนขึ้นมาแล้วเพ่งเปลวเทียนก็ได้ หรืออย่างสมัยที่ผมฝึกมันหาเทียนยากมีแต่ตะเกียงน้ำมันผมก็ใช้ตะเกียงน้ำมัน หรือเวลาหุงข้าวก็เอาฟืนทั้งเตาเป็นนิมิตกสิณได้ สมัยโน้นเตาแก๊สยังไม่มี หม้อไฟฟ้ายังไม่มี ถึงเวลาก็ต้องติดไฟหุงข้าวจะเป็นเตาถ่านเตาฟืนอะไรผมก็ใช้นิมิตไฟทั้งเตานั้นเป็นนิมิตกสิณแทน
คราวนี้กล่าวถึง *อนุภาพของกสิณ* ก่อน ธาตุกสิณทั้งสี่กองนี้มีอนุภาพมาก 
  • ปฐวีกสิณ นั้นถ้าหากว่าเราต้องการของอ่อนเป็นของแข็งเมื่อทำได้แล้วก็อธิษฐานได้ตามใจ สามารถเดินขึ้นบนอากาศได้เหมือนกับมีบันไดรองรับ เดินบนน้ำได้เหมือนยังกับว่าพื้นน้ำนั้นแข็งตัวอยู่
  • เรื่องของ อาโปกสิณกสิณน้ำ สิ่งที่แข็งเราสามารถอธิษฐานให้อ่อนดัดแปลงเปลี่ยนรูปได้ตามใจของเราชอบ ที่ที่ไม่มีน้ำอดน้ำอยู่สามารถอธิษฐานให้น้ำเกิดที่ นั่นได้ ขณะเดียวกันถ้าหากว่าเราทำเป็นก็สามารถทำเป็นทิพยจักษุญาณได้ โบราณาจารย์ท่านกล่าวว่า กสิณไฟ กสิณสีขาว กสิณแสงสว่างคืออาโลกสิณ เป็นพื้นฐานของทิพยจักษุญาณ เรื่องของอาโปกสิณคือกสิณน้ำถ้าหากว่าเรากำหนดใจจดจ่ออยู่กับน้ำในภาชนะนั้น ก็เป็นอาโปกสิณ แต่ถ้าเราเพ่งจิตจนถึงก้นของภาชนะน้ำนั้น สามารถทำเป็น ทิพยจักษุญาณ ได้
  • เรื่องของ วาโยกสิณ เราสามารถจะไปที่ไหนๆ ได้ด้วยกำลังของวาโยกสิณอย่าง ที่โบราณเขาใช้คำว่าเหาะไป แต่ว่าความจริงแล้วถ้าหากว่ามีคนเห็นเราอยู่ตรงหน้าแล้วเราไปด้วยกำลังของ วาโยกสิณจริงๆ ถ้าไม่ได้อธิษฐานให้ไปช้าๆ อย่างเช่นถ้านั่งอยู่ตรงนี้คิดว่าเราจะไปกรุงเทพฯ คนที่นั่งอยู่ตรงนี้จะเห็นเราหายไปเฉยๆ แล้วไปปรากฏที่กรุงเทพฯอีกทีหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเราลอยไปด้วยอำนาจของวาโยกสิณ เพียงแต่ว่าลอยไปเร็วมาก มันก็เลยเหมือนกับหายวับจากจุดนี้ไป ไปปรากฏที่อีกจุดหนึ่ง หรือว่าที่ไหนไม่มีลมมันร้อนอบอ้าว อธิษฐานให้มีลมให้มันเย็นสบายได้
  • เรื่องของ เตโชกสิณ คือกสิณไฟ ถ้าทำได้แล้วเราสามารถอธิษฐานให้ไฟติดขึ้นที่ใดที่หนึ่งก็ได้ จะให้ความอบอุ่นจะให้แสงสว่างหรือจะให้เผาผลาญสิ่งใดก็ได้ อำนาจของเตโชกสิณ เราสามารถควบคุมมันได้อย่างที่ต้องการ ถ้าจะเผาแค่เสื้อผ้ารับรองว่าตัวคนไม่มีอันตราย ทั้งๆ ที่ไฟลุกท่วมตัวอยู่อย่างนั้น
  • คราวนี้ ธาตุกสิณทั้งสี่ นี้ยังสามารถใช้ใน การปรับธาตุ เพื่อรักษาพยาบาลคนที่เจ็บป่วยได้ เนื่องจากว่าคนที่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดจากการที่ธาตุใดธาตุหนึ่งบกพร่อง ถึงมีอาการเจ็บป่วยถ้าเราอธิษฐานให้ธาตุสี่ประสานเสมอกันอาการเจ็บป่วยนั้นก็หาย แต่สำหรับนักปฏิบัติแล้วถ้าไม่ใช่หน้าที่ของตนจริงๆ อย่าไปฝืนกรรม ทำในลักษณะนั้น เพราะว่าทุกคนต้องสร้างกรรมมาถึงจะเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเราไปฝืนกระแสกรรมโดยการช่วยเหลือผู้อื่นเขา กรรมอันนั้นจะเข้าถึงตัวเราอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือถ้าเราไปฝืนกฏของกรรม อำนาจของอภิญญาที่ได้จากกสิณจะเสื่อม
  • ในเมื่อธาตุกสิณทั้งสี่ มีอนุภาพดังนี้ เวลาเรา *ปฏิบัติ* ก็เริ่มจากกองใดกองหนึ่งที่เราชอบ
  • ถ้าจับ ปฐวีกสิณ ก่อนก็ลืมตาดูภาพนิมิตกสิณที่เราทำไว้ หลับตาลงนึกถึงภาพนั้นพร้อมกับคำ ภาวนาว่า "ปฐวีกสิณนัง ปฐวีกสิณนัง " ถ้าภาพเลือนหายไปลืมตาขึ้นมาดูใหม่แล้วหลับตาลงนึกถึงภาพนั้น ระยะแรกๆ มันจะนึกได้แค่ชั่วคราวพอถึงเวลาหลับตาลงไม่ถึงอึดใจภาพก็หายไป ก็ลืมตาดูใหม่พร้อมกับคำภาวนาใหม่ ทำดังนี้ไปเรื่อยๆ บางทีเป็นเดือนเป็นปี เป็นหมื่นเป็นแสน เป็นล้านครั้งกว่าภาพนั้นจะปรากฏได้ทั้งหลับตาและลืมตา
  • ถ้าใช้ กสิณน้ำเมื่อใช้ภาชนะบรรจุน้ำวางอยู่ตรงหน้าลืมตามองน้ำในภาชนะนั้น พร้อมกับหลับตาลงนึกถึงภาพของน้ำในภาชนะ ภาวนาว่า "อาโปกสิณนัง อาโปกสิณนัง " ดังนี้ไปเรื่อยๆ
  • ถ้าหากว่าการกำหนดใน วาโยกสิณ เมื่ออาการของลมที่กระทบผิวกายเป็นระลอกระลอกอย่างใด ก็ให้กำหนดอาการกระทบอย่างนั้น พร้อมกับคำภาวนาว่า "วาโยกสิณนัง วาโยกสิณนัง "
  • ถ้าหากว่าจับ ภาพไฟ เป็นปกติ ก็ให้จับภาพของดวงเทียน หรือว่ากองไฟนั้นๆ พร้อมกับคำภาวนาว่า "เตโชกสิณนัง เตโชกสิณนัง "
  • คราวนี้เรื่องของ ธาตุกสิณทั้งสี่ นี้ ถ้าหากว่าเป็น *อุคหนิมิต* ก็จะเป็นนิมิตตามกองกสิณนั้นๆ
  • คือว่าถ้าเราทำ นิมิตดิน เป็นรูปวงกลม เป็นรูปสี่เหลี่ยมอย่างไรที่เราชอบใจก็ตาม ถึงวาระถึงเวลานั้นภาพนั้นก็จะปรากฏ
  • ถ้าเป็น กสิณน้ำก็จะปรากฏเป็นวงตามภาชนะนั้นๆ
  • ถ้าเป็น กสิณลม อันนี้จับยากสักนิดหนึ่งเพราะว่าเรามองลมไม่เห็นแต่พอจับอาการกระทบไปเรื่อยๆ ๆ มันจะเริ่มเห็นขึ้นมา ลักษณะยังกับเราเห็นไอแดดที่มันเต้นเป็นตัวเวลาร้อนมากๆ ถ้าหากว่าภาพกสิณนั้นมีความชัดเจนขึ้น ก็จะเหมือนกับไอน้ำที่เราต้มน้ำหรือว่าหุงข้าวแล้วไอนั้นลอยขึ้นมาเป็นระลอก ระลอก อยู่อย่างนั้น
  • ถ้าหากว่าเป็น กสิณไฟ ก็จะมีนิมิต ตามลักษณะของดวงกสิณที่เราพิจารณาอยู่ ที่เราเพ่งอยู่ ถ้าหากว่าเราเพ่งเปลวเทียนนิมิตก็จะเป็นดวงเทียนในลักษณะเปลวไฟลอยตั้งอยู่เฉยๆ ถ้าเราเพ่งภาพของกองไฟก็จะเห็นไฟทั้งกองนั้นตั้งอยู่ตรงหน้าของ เรา แต่ว่ามีอยู่จุดหนึ่งที่ว่าถ้าหากว่าบางท่านมีความคล่องตัวมาก่อนมันจะไม่ เห็นเป็นเปลวไฟในลักษณะของดวงกสิณที่เราเพ่งแต่มันจะเห็นในลักษณะเหมือนยัง กับ ตาลปัตรทองคำ คือมันจะพุ่งขึ้นไปแล้วแตกกระจายเป็นแฉกๆ อยู่ทางด้านบนซึ่งอันนี้ผมเจอมาด้วยตัวเอง
  • เมื่อลักษณะของ อุคหนิมิต นี้ปรากฏขึ้น เราต้อง เพิ่มความระมัดระวัง เพิ่มสติ จะหลับจะตื่น จะยืน จะนั่งเอากำลังใจส่วนหนึ่งจดจ่ออยู่กับภาพกสิณ พร้อมกับคำภาวนาเสมอ พอทำไปๆ สีสันของกสิณนั้นก็จะ อ่ อ น ล ง.. จ า ง ล ง ..จนกระทั่งกลายเป็นสีขาวทั้งหมด จากสีขาวก็ค่อย ใ ส ขึ้ น ๆ ส ว่ า ง ขึ้ น จนกระทั่ง ส ว่ า ง เ จิ ด จ้ า เหมือนยังกับเอากระจกสะท้อนไฟใส่ตา
  • แต่ว่ามันมีนิมิตกสิณอยู่สองกองคือ อาโปกสิณ กสิณน้ำ กับ เตโชกสิณ กสิณไฟ นิมิตทั้งสองกองนี้ถ้าเป็น ปฏิภาคนิมิต แล้วเมื่อเราอธิษฐานให้ใหญ่ให้เล็กให้มา ให้หายไป มีความคล่องตัวแล้ว บางทีอยู่ๆ จะเห็นกระแสน้ำไหลมาท่วมทุกทิศทุกทาง อันนั้นอย่าได้ตกใจ หรืออยู่ๆ เห็นเป็นไฟลุกไหม้พรวดพราดขึ้นมา บางทีไหม้ไปทั้งอาคารทั้งหลังอันนั้นก็อย่าไปตกใจ ไม่ว่าจะน้ำมาทุกทิศทุกทางหรือไฟลุกท่วมไปทั้งอาคารก็ตาม
  • โปรดทราบว่าอันนั้นเป็นแค่นิมิตกสิณเฉยๆ เราสามารถที่จะควบคุมมันได้สบายมาก เราอธิษฐานให้ไฟลุกท่วมทั้งโบสถ์นี้ โบสถ์นี้ก็จะไม่มีอันตรายถ้าเราไม่ต้องการให้ไหม้ ให้น้ำท่วมมาทุกทิศทุกทางก็จริง แต่ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการให้มีอันตรายจากน้ำนั้น น้ำนั้นก็ทำอันตรายใครไม่ได้ 
  • มีหลายท่านที่ทำกสิณดังนี้แล้วพอนิมิตพวกนี้เกิดขึ้นแล้วตกใจกลัว วิ่งหนีก็ดีหรือว่าตื่นตกใจเรียกให้คนช่วยก็ดีในลักษณะนั้นเป็นการขาดสติ บางทีความตกใจมากทำป้ำๆ เป๋อๆ ทำกรรมฐานต่อไม่ได้เลยก็มี
  • ดังนั้นขอให้ เราทุกคนโปรดเข้าใจว่า ถ้านิมิตกสิณเหล่านี้เกิดขึ้น เราเป็นผู้ทำให้มันเกิด ต้องการให้มันมามันก็มา ต้องการให้มันหายไปมันก็หายไปเดี๋ยวนั้น มันจะทำอันตรายเราไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเราสามารถควบคุมมันได้ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปตกใจ ไม่จำเป็นต้องไปหวาดกลัวใดๆ
  • ให้เราพยายามทำกสิณในลักษณะนี้ให้ทรงตัวให้ได้ เมื่อเป็น*ปฏิภาคนิมิต* แล้ว เราก็ลองอธิษฐานใช้ผลดูคือ จับภาพกสิณให้ ส ว่ า ง เ จิ ด จ้ า เต็มที่ กำหนดอธิษฐานให้หาย ให้มา จนคล่องตัวมั่นใจ
  • แล้วถ้าหากว่าเป็น ปฐวีกสิณ ก็ลองนำน้ำมาสักขันหนึ่ง อธิษฐานว่า "ขอให้น้ำนี้จงแข็งเหมือนดิน" แล้วเสร็จแล้วคลายกำลังใจออกมาเข้าฌานเต็มระดับ คือจับภาพกสิณให้ ส ว่ า ง เ จิ ด จ้ า เต็มที่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อคลายใจออกมาสู่อารมณ์ปกติ แล้วอธิษฐานขอให้น้ำนี้แข็งตัวใหม่ น้ำนั้นจะแข็งเป็นดิน คือ ลักษณะแข็งเหมือนกับหินไปทั้งขัน
  • สมัยที่อยู่วัดท่าซุงเด็กๆ นักเรียนทำได้แล้วก็แกล้งเพื่อนตัวเองลักษณะนี้ พอเข้าส้วมก็รอจังหวะพอเพื่อนจะตักน้ำล้างส้วมก็อธิษฐานให้น้ำมันแข็งเพื่อน ตักน้ำไม่ได้ตัวเองก็ชอบใจไปหัวเราะเยาะเพื่อนได้ พยายามทำให้อยู่ในลักษณะที่เรียกว่ามีความชำนาญ นึกเมื่อไหร่น้ำก็แข็งเมื่อนั้น คราวนี้จะลองหัดเดินน้ำดูก็ได้แต่ว่าถ้าหัดเดินน้ำให้ อธิษฐานว่า "ให้น้ำทุกจุดที่เราเหยียบลงไปมีความแข็งและหนาแน่นเหมือนกับดิน" อย่าไปอธิษฐานให้น้ำทั้งหมดแข็งเพราะว่าจะสร้างความเดือนร้อนให้กับผู้อื่นเขา ถ้าอธิ๋ษฐานผิดในลักษณะนั้นผลของกสิณจะไม่เกิด
  • ถ้าหากว่าเป็น กสิณน้ำก็ลองอธิษฐาน ของแข็งให้อ่อน ดู อาจจะน้ำไม้สักอันหนึ่ง เหล็กสักท่อนหนึ่งมาวางตรงหน้า เข้าสมาธิเต็มที่ จนภาพกสิณ ใ ส ... เ จิ ด จ้ า แล้วอธิษฐานขอให้ไม้หรือเหล็กนั้นอ่อนลง คลายกำลังใจลงมาเข้าสู่ภาวะฌานสมาบัติให้เห็นดวงกสิณ ใ ส เ จิ ด จ้ า แบบนั้นเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง พอลดกำลังใจลงมา อธิษฐานขอให้มันอ่อนตัวลง พอเข้าฌานใหม่ สิ่งนั้นก็จะอ่อนตัวลง จับบิดดัดแปลงเปลี่ยนรูปได้ตามที่เราต้องการ
  • ถ้าหากว่าเป็น กสิณลม ก็เอาระยะใกล้ๆ ในจุดที่คนเขามองไม่เห็นเพื่อคนเขาจะได้ไม่แตกตื่น อย่างเช่นว่าเราอธิษฐานว่า "จะไปในดงไผ่นั้น" เวลาเข้าสมาธิเต็มที่ อธิษฐานแล้วคลายกำลังใจออกมา อธิษฐานแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง พอเข้าสมาธิเต็มที่ ร่างกายก็จะไปอยู่ในสถานที่ที่ต้องการนั้นๆ
  • ถ้าเป็น กสิณไฟ ก็แอบๆ จุดไฟเล่นของเราก็ได้ จุดเทียนในกุฏิของเราตั้งใจอธิษฐาน "ขอให้ไฟมันติด " มันก็จะติดขึ้นมา
  • ทำให้มีความคล่องตัวแบบนี้ทุกวัน ซ้อมทำอยู่เรื่อยๆ ทุกบ่อย ความจริงเรื่องของกสิณนั้น ถ้าเราทำกองใดกองหนึ่งได้แล้วกสิณที่เหลือก็เหมือนๆ กัน คำว่าเหมือนกันก็คือว่าใช้ลักษณะของนิมิตด้วยกำลังเท่าเดิมใช้กำลังของสมาธิ เท่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนนิมิตเปลี่ยนคำภาวนาเล็กน้อยเท่านั้น
  • กสิณกองต่อไปคือ อาโลกสิณ เป็นการจับแสงสว่าง สมัยก่อนเขาดูแสงสว่างที่ลอดฝา ลอดตามช่องเข้ามา ลอดตามหลังคาเข้ามา แต่ว่าสมัยนี้มีลูกแก้วใช้ลูกแก้วเป็นนิมิตกสิณได้ หรือว่าใช้พระแก้วเป็นนิมิตกสิณได้ อาโลกสิณนั้นเป็นกสิณสร้าง ทิพยจักษญาณ โดยตรง ใครทำอาโลกสิณได้สามารถมีทิพยจักษุญาณเห็นนรก สวรรค์ พรมหม นิพพานได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันถ้าที่ใดมันมืดมิดต้องการจะให้สว่างมันก็สว่างตามที่เราต้องการได้ เวลาจับภาพนิมิตกสิณพร้อมกับคำภาวนา ก็ใช้คำว่า "อาโลกสิณนัง อาโลกสิณนัง"
  • ส่วนกสิณกองต่อไปคือ อากาศกสิณ อันนี้ให้จับช่องว่างเป็นช่องใดช่องหนึ่งตามข้างฝาก็ได้ตามหลังคาก็ได้เป็นตัวนิมิต ตั้งใจภาวนาว่า "อากาศกสิณนัง อากาศกสิณนัง " ดังนี้ไปเรื่อยๆ เรื่องของอากาศกสิณนี้มีอนุภาพตรงที่ว่าสถานที่ใดมันจะทึบมันจะตันขนาดไหนก็ตามประตูหน้าต่างที่เขาล็อคไว้ขนาดไหนก็ตามถ้าเราต้องการจะผ่านไป ถึงเวลาอธิษฐานให้ตรงนั้นเป็นช่องว่างเราก็สามารถผ่านไปได้ง่ายๆ ลักษณะของการดำดินหรือว่ามุดภูเขาไปทั้งลูกก็ใช้กำลังของอากาศกสิณนี้เอง
  • ส่วน อาโลกสิณ นั้นเป็นกสิณเกี่ยวกับ ทิพยจักษุญาณโดยตรง ถึงเวลาอธิษฐานขอให้ภาพกสิณหายไปขอให้ภาพนรก เปรต อสุรกายปรากฏขึ้น ขอให้ภาพเทวดา พรมหม หรือพระนิพพานปรากฏขึ้น เราก็สามารถที่จะทำได้ง่าย
  • คราวนี้ *กสิณทั้งหมดนั้นถ้าเราทำแค่นั้นมันเป็นโลกียอภิญญา*
  • ไม่สามารถจะหลุดพ้น ก็ให้พิจารณาดูความไม่เที่ยงของมันไม่ ว่าจะดิน จะน้ำ จะลม จะไฟมันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลายตัวไปเช่นกัน ดวงกสิณทุกอย่างแรกๆ มันก็ไม่สามารถตั้งมั่นทรงตัวอยู่ได้ ถึงเวลาเป็นอุคหนิมิตทรงตัวก็แสดงว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ แล้วถึงเวลาสามารถบังคับมันให้เป็นปฏิภาคนิมิตได้เดี๋ยวก็ใหญ่เดี๋ยวก็เล็ก ความไม่เที่ยงของมันมีอยู่เป็นปกติ ตัวเราเองที่ทำกสิณอยู่กว่าจะทำได้แต่ละทีลำบากยากเย็นแสนเข็นขนาดต้องนั่ง เมื่อยอยู่เป็นวันๆ จับภาพกสิณให้เป็นอุคนิมิตไม่ได้เลย (ถึงนาทีที่ ๒๔:๒๕)

พระกรรมฐาน ๔๐ กอง หมวดกสิน ๑๐
วันพุธที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๗
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
(พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
(หลวงพี่เล็ก วัดท่าขนุน)
ขอบคุณท่านเจ้าของภาพและบทความจากเก็บตกบ้านอนุสาวรี