วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร


พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือพระกวนอิมพู่สัก
       ในพระอมิตาภะสูตร ของมหายาน กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์ได้ทรงตรัสแก่พระสารีบุตรเถระ มีใจความย่อๆ ดังนี้
       "จำเดิมเป็นเวลาล่วงมาถึง 10 กัปป์แล้ว ไม้มีพระพุทธอมิตาภะทรงประทับอยู่ ณ แดนสุขาวดีทางทิศปัจฉิม พระพุทธอักโษภัยทางทิศบูรพา พระพุทธรัตนสมภพทางทิศทิกษิณ พระพุทธอโมฆสิทธิ์ทางทิศอุดร พระพุทธไวโรจน์อยู่ศูนย์กลาง ฯลฯ พระพุทธเจ้าเหล่านั้นล้วนเป็นพระฌานีพุทธ(ไม่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์อีก) และยังประกอบด้วยพระฌานีโพธิสัตว์อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สมัครเข้าสู่พุทธภูมิทรงตั้งปณิธานขอโปรดสัตว์ในไตรภูมิต่อไป"
       บรรดาพระโพธิสัตว์องค์สำคัญๆ ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ปรากฏว่าพระอวโลกิเตศวรมีผู้เคารพนับถือมากที่สุด เพราะเชื่อกันว่าพระองค์เป็นผู้ทรงไว้ด้วยพระมหากรุณาอันกว้างไพศาลในอันที่จะโปรดสัตว์โลกที่ได้รับความทุกข์ ชาวจีนเรียกพระองค์ว่า "กวนซืออิมพู่สัก" หรือกวนจื่อจ๋ายพู่สัก (เป็นปางที่อวตารมาเป็นกษัตริย์จันทราภานุแห่งอาณาจักรศรีวิชัย และต่อมาได้เป็นจตุคามรามเทพที่กำลังโด่งดังในขณะนี้ เวปมาสเตอร์) ชาวพุทธศาสนิกชนเคารพบูชาพระปฏิมาหรือภาพของพระองค์อย่างแพร่หลายด้วยความศรัทธา เนื่องด้วยพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทรงมีวทัญญู (ความเมตตากรุณาธิคุณ) คอยปลดเปลื้องทุกข์ภัยของสรรพสัตว์ พระองค์จึงได้รับพระนิมิตตกนาม (นามที่มาจากลักษณะและคุณสมบัติ) ตามภาษาจีน เรียกว่า กวนอิมพู่สัก มีความหมายดังคำอธิบายต่อไปนี้
       กวน ได้แก่ การพิจารณาสอดส่อง
       อิม  ได้แก่ การสดับตรับฟังเสียงสรรพสัตว์เพื่อช่วยปลดเปลื้องทุกข์
       กวนอิมพู่สัก จึงหมายถึง พระโพธิสัตว์ที่มีพระกรรณาธานโลกาศัพท์ (พระโพธิสัตว์ที่คอยสดับตรับฟังเสียงความทุกข์สุขของชาวโลก)
       จากคัมภีร์กรุณาปุรฑริกสูตร กล่าวไว้ว่า พระอวโลกิเตศวร เป็นพระธรรมกายโพธิสัตว์ สูงกว่าพระโพธิสัตว์ชั้นสามัญอื่นๆ เป็นผู้มีเอกชาติหรือยังคงมีปฏิพัทธะเกี่ยวข้องกับความเกิดเพียงชาติเดียว และจักเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาน หลังกจาการปรินิพพานของพระอมิตาภะพุทธเจ้า รับช่วงเป็นองค์พุทธเจ้าต่อพระอมิตาภะพุทธเจ้า ณ แดนสุขาวดีพุทธเกษตร พระองค์ทรงเป็นผู้มีคุณธรรม เกือบเต็มบริบูรณ์เทียบเท่ากับพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั่วทศทิศ ตามพระอวโลกิเตศวร สมาธิสูตร อ้าวว่า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แท้จริงเป็นพระสัมมาธรรมวิทยาพุทธ แบ่งภาคร่างมาเพื่อโปรดสัตว์ หมายความว่าทรงบรรลุโพธิญานแล้วแต่อดีตกาล (พระศากยมุณีพุทธเจ้าปัจจุบันเคยเป็นสิทธิวิหาริกของพระองค์) แต่เพราะเหตุว่าพระองค์ยังประกอบด้วยพระเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่จึงทรงอวตารแบ่งภาคเป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ลงมาโปรดสัตว์ พระสูตรของระหัสยาน กล่าวถึงพระอวโลกิเตศวรว่า เป็นอวตารของพระอมิตาภะพุทธเจ้า(พระอมิตาภะเป็นภาวะเดิม และพระอวโลกิเตศวรเป็นสัทธรรมกาย) หากมีปัญหาถามว่าที่ประทับของพระองค์อยู่ ณ ที่แห่งหนใด ตอบได้ว่าพระองค์ทรงปรากฏพระกายได้ทั่วทุกหนแห่งที่มีสัตว์ตกอยู่ในห้วงทุกข์ แต่ในอมิตายุรธยานสูตร พระสถามปราบโพธิสัตว์และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นอัครสาวก ดำรงตำแหน่งดุจปลัดซ้ายขวาของพระอมิตาภะพุทธเจ้า และคอยช่วยเหลือพระอมิตาภะพุทธเจ้าในการโปรดสัตว์ ประทัยอยู่ ณ แดนสุขาวดีโลกธาตุ จากพุทธาวตังสกะมหา-ไวปุลยสูตรระบุว่า ที่ประทับ พระอวโลกิเตศวร อยู่ ณ เกาะกลางทะเลทางทิศใต้ของประเทศอินเดีย เรียกที่นั้นว่า ภูเขาโปตละ
      ตามคติฝ่ายมหายานว่า เมื่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ จะเสด็จไปโปรดท้าวพระยามหากษัตริย์ พระองค์ก็นิรมิตกายเป็นเมธาติมานพ ทรงเครื่องภูษามาลามหากษัตริย์ ถนิมอลังการสว่ากว่าพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น หากพระจะเสด็จไปโปรดพระยายักษ์พระยามาร พระองค์ก็สำแดงกายมีจัตุหัสถ์ (สี่มือ) บางครั้งมีพระสหัสสหัตถสหัสสเนตร (พันมือพันตา) ประกอบด้วยเดโชพลเป็นที่น่าครั่นคร้าม ถ้าพระองค์เสด็จไปโปรดท้าวนางพระยาและบรรดาสตรีเพศ ก็จำแลงพระองค์เป็นสตรีอันทรงอิตถีรูป ทรงสมรรถณะเป็นที่น่าอภิวันท์ ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น พระองค์อาศัยความเหมาะสมตามกาละเทศะ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอน พระสูตรบางเล่มอธิบายว่า หากบุคคลใดจะเป็นบุรุษหรือสตรีก็ตาม เมื่อระลึกถึงพระองค์ด้วยความเลื่อมใสอ้อนวอนขอให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์จะแผ่พระเมตตากรุณามาปลดเปลื้องทุกขภัยของผู้นั้นสมประสงค์
       ปัจจุบันเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเพศของพระอวโลกิเตศวรว่าเป็นชายหรือหญิง เพราะชนชาวจีนทั่วไปนิยมบูชาพระปฏิมาพระโพธิสัตว์พระองค์นี้เป็นรูปสตรี และเรียกว่า "กวนอิมเนี้ย" คำว่าเนี้ยระบุชัดแจ้งว่าเป็นสตรีเพศ จากประวัติศาสตร์จีนบันทึกว่า ก่อนราชวงศ์ถัง ซ้องผู้มีศิลปการปั้น วาดดภาพ และสลัก นิยมรูปลักษณะของพระกวนอิมมาก และสร้างตามศิลปเดิมที่รับมาจากประเทศอินเดีย คือเป็นรูปมหาบุรุษ ประดับด้วยอลังการวิษิตภรณ์อย่างกษัตริย์อินเดียโบราณทั้งสิ้น แม้รูปปฏิมา ที่สร้างขึ้นในประเทศอินเดียเองก็เป็นรูปมหาบุรุษเช่นกัน ภายหลังยุคราชวงศ์หงวนพุทธศาสนิกชนจีนเข้าใจผิดคิดว่าพระกวนอิมนั้นก็คือพระนางเมี่ยวซัน ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์จีนเมี่ยวจัง และอีกสาเหตุหนึ่งที่นิยมสร้างพระปฏิมาเป็นรูปสตรี เนื่องจากปณิธานของพระอวโลกิเตศวรต้องการโปรสัตว์ทุกภพภูมิและทรงเสด็จมาโปรสัตว์ตามสภาวะรูปแห่งสัตว์นั้นๆ ดังปรากฏในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ความตั้งใจของผู้สร้างปฏิมาสตรีสมัยนั้นคงจะได้พิจารณาเห็นว่าสตรีเพศเป็นเพศมารดาเป็นสัญญสักษณ์แห่งความเมตตาปรานีซึ่งซาบซึ้งกว่าบุรุษเพศ เช่นความรักของมารดาที่แสดงต่อบุตรย่อมีความประณีตกว่า เห็นได้ชัดแจ้งกว่าความรักของบิดา ด้วยบิดาเป็นชายย่อมต้องดำรงไว้ในความเข้มแข็งองอาจ เหตุผลข้อหลังนี้รู้สึกจะเป็นสาเหตุสำคัญมากของการสร้างปฏิมาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นสตรีเพศ
       อย่างไรก็ตามปฏิมาของพระอวโลกิเตศวร หากจะสร้างให้ถูกคุณลักษณ์แล้วช่างผู้สร้างต้องพยายามใช้ความสามารถในการสร้างเพื่อดึงดูดผู้บูชาให้เกิดความซาบซึ้งศรัทธาในพระปัญญาธิคุณ พระสันติคุณ และพระกรุณาธิคุณ สิ่งทั้ง 3 ประการต้องแสดงออกจากพระพักตร์และพระเนตรขององค์พระปฏิมา จึงจัดว่าสร้างถูกต้องตรงตามคุณลักษณะโพธิสัตว์ ผู้ใดเข้าถึงหรือประกอบตามพระคุณาลังการอย่างพระองค์ก็ย่อมสามารถพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงได้จริง การภาวนาพระคาถาที่พระองค์ประทานจะต้องกระทำพ้อมกันทั้ง 3 ด้านคือ กาย วาจา และใจ เพื่อโน้มน้าวไปตามธรรมานุธรรมปฏิบัติ(ความประพฤติดีงามตามสถานะ) จึงจะเกิดธรรมสารคุณ(คุณในแก่นแห่งธรรม) นับได้ว่าพระองค์เป็นผู้ให้คุโณปการ(การอุดหนุนให้ทำคุณงามความดีต่างๆ) คือช่วยชี้ทางและเตือนใจห้สร้างสมคุณธรรมนั้นๆ ขึ้น
       ในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ตอนสมันตมุขปริวรรต อ้างไว้ทำนองพระพุทธบรรยายแก่พระอักษยมติโพธิสัตว์ ดังใจความสำคัญย่อๆ ต่อไปนี้
       ก็โดยสมัยนั้นแล พระอักษรยมติโพธิสัตว์ ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำจีวรเฉวียงบ่าคุกเข่าอี่พู่ลงแล้วประคองอัญชลีมายังพระผู้มีพระภาคทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มีเหตุปัจจัยอย่างไรหนอ พระเจ้าข้า จึงมีพระเนมิตกนามว่า อวโลกิเตศวร พระผู้เป็นนาถะแห่งโลกตรัสตอบว่า "ดูก่อนกุลบุตร ถ้ามีสรรพสัตว์นับด้วยอสงไขยโกฏิอันไม่มีประมาณ ได้รับความทรมานจากทุกข์ทั้งหลายอยู่ และได้สดับพระคุณนามแห่งพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มีเอกจิตเปล่งนมัสการถึงพระนามของพระองค์แล้วไซร้ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์จักทรงสดับดูแลซึ่งเสียงนั้นในทันที และสรรพทุกข์ของเขาก็จะปลดหลุดพ้นไป ถ้ามีผู้สวดภาวนาถึงพระนามแห่งพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์อยู่ เขาผู้นั้นจะเข้าไปในท่ามกลางมหาอัคคี อัคคีก็มิอาจจะเผาไหม้เขาผู้นั้นได้ด้วยเดชแห่งพระโพธิสัตว์พระองค์นั้น ถ้าแม้มีผู้ประสบอุทกภัยตกไปในมหาสาครอันลึกล้ำ หากสวดภาวนาถึงพระคุณนามนั้น แล้วก็จะบรรลุถึงสถานที่ตี้นในทันที ถ้ามีสรรสัตว์ทั้งหลายนับด้วยอสงไขยโกฏิมีความต้องการการแสวงหา สุวรรณ หิรัญ ไพฑูรย์ บุศราคัม เพทาย เพชร นิล จินดามณีรัตนะเป็นอาทิ ได้พากันออกแสวงหาเดินทางไปในมหาสมุทรและมีมหากาฬวายุภัยบังเกิดขึ้นจะพัดพาเรือให้ไปตกอยู่ยังประเทศเหล่าอสูรปีศาจร้ายในจำนวนคนทั้งหลายเหล่านั้น หากจักมีบุคคลแม้สักคนหนึ่งสวดภาวนาถึงพระนามพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ไซร์ ผู้คนทั้งหมดเหล่านั้นก็จะรอดพ้นจากอสูรภัยได้ ด้วยเหตุปัจจัยประการฉะนี้แล พระโพธิสัตว์พระองค์นั้นจึงทรงพระนามว่าอวโลกิเตศวร"
       "อนึ่งถ้ามีบุคคลจะได้รับการประทุษร้าย หากเขาเปล่งเสียงภาวนาถึงพระนามของพระอวโลติเกศวรไซร้ อาวุธที่ผู้ประทุษร้ายกระทำร้ายจักภินทนาการหักลงเป็นท่อนๆ และบุคคลผู้ถูกทำโทษก็จะหลุดพ้นไปได้ และหากมีเหล่าอสูรยักษ์ร้ายทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุจักประทุษร้ายมนุษย์เพียงแต่ได้ยินเสียงสวดสรรเสริญถึงพระนามพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์เท่านั้น แม้ดวงจักษุอันดุร้ายของเหล่าอสูรยักษ์ ก็ยังมิกล้าจะแลดูมายังมนุษย์ อย่าว่าแต่จักมาประทุษร้ายเลย"
       "อนึ่งหากมีบุคคลผู้มีโทษจริงแล้วก็ตาม มิมีโทษจริงก็ตาม มีกายอันถูกจองจำในเครื่องพันธนาการอยู่ มาตรว่าเขาจะเปล่งพระนามพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ไซร้ เครื่องจองจำพันธนาการเหล่านั้นจักภินทนาการลงแลเขาคนนั้นก็ได้รับความอิสระ"
      "อนึ่งหากปรากฏทั่วทั้งมหาตรีสหัสสโลกธาตุอุดมด้วยเหล่าโจรภัย มีนายพาณิชย์ผู้หนึ่งพาขบวนนำสินค้ารัตนะอันมีราคาด้องผ่านทางอันตราย ในหมู่พาณิชย์หากมีบุคคลสักผู้หนึ่งกล่าวว่า ดูก่อนกุลบุตรพวกท่านทั้งหลายอย่างได้กลัวเลยท่านทั้งหลายจงมีเอกจิตภาวนาถึงพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์เถิด พระมหาสัตว์พระองค์นั้นทรงมีพระมหากรุณาแก่สรรพสัตว์อาจปลดเปลื้องความหวาดกลัวต่างๆได้ มาตรว่าท่านทั้งหลายภาวนาถึงพระองค์ไซร้ จักรอดพ้นจากโจรภัยได้ เหล่าพาณิชย์เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ต่างก็เปล่งเสียงขึ้นพร้อมกันว่า "นโม อารยาวโลกิเตศวราย โพธิสัตตาย" เพราะเหตุที่เปล่งพระนามดั่งนี้จึงหลุดพ้นภัยไปได้ ดูก่อนอักษยมติพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ มหาสัตว์มีพระเดชานุภาพอันพิลึกโอฬารอย่างนี้แล ดูก่อนอักษยมติ หากมีสรรพสัตว์ใดมักมากในกามราคะ ถ้าหมั่นรำลึกภาวนาบูชาใน พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เสมอ ก็สามารถห่างไกลจากกามราคะได้ หากมีสรรพสัตว์ใดมักมากด้วยโทสะ ถ้าหมั่นรำลึกภาวนาบูชาเคารพในพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เสมอก็สามารถห่างไกลจากโทสะได้  หากมีสรรพสัตว์ใดมักมากด้วยโมหะ ถ้าหมั่นรำลึกภาวนาบูชาเคารพในพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เสมอ ก็สามารถห่างไกลจากโมหะได้ ดูก่อนอักษยมติ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทรงไว้ซึ่งมหาเดชานุภาพอย่างนี้ ทรงประทานหิตานุหิตประโยชน์อันมากมาย ฉะนั้นสมควรแล้วที่สรรพสัตว์จักมีจิตรำลึกถึงพระองค์เสมอๆ หากมีสตรีใดปรารถนาจะได้บุตรชาย เธอพึงบูชานอบน้อมพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ก็จักได้บุตรชายอันสมบูรณ์ด้วยบุญญาธิการและปัญญา หากปรารถนาจักได้บุตรหญิง ก็จักได้เกิดบุตรหญิงที่ทรงลักษณะสิริโสภาคย์มีบุญอันกระทำไว้แล้วเป็นที่รักบูชาของคนทั้งหลาย ดูก่อนอักษยมติ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทรงอานุภาพด้วยประการฉะนี้"
       อนึ่ง หากมีสรรพสัตว์เคารพสักการบูชาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ จักมีบุญญสมภารอันจะประมาณมิได้ ด้วยประการฉะนี้ สรรพสัตว์จึงสมควรสวดภาวนาถึงพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ดูก่อนอักษยมติ หากมีบุคคลสวดภาวนาพระนามของพระโพธิสัตว์เท่าเมล็ดทรายจำนวน 62 โกฏิในคงคานที อนึ่ง ยังได้บูชาถวายสิ่งอุปโภคบริโภคมีภัตตาหาร เสนาสนะ เภสัช แด่พระโพธิสัตว์เหล่านั้นเธอมีความคิดเป็นไฉน กุลบุตรหรือกุลธิดานั้นมีกุศลมากหรือไม่หนอ" พระอักษยมติทูลสนองว่า "มากมายยิ่งนัก พระเจ้าข้า" พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "หากมีบุคคลสวดภาวนาถึงพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ แลได้บูชาสักการ แม้ชั่วระยะกาลหนึ่ง ในบุคคลทั้งสองนั้น ย่อมมีบุญญสมภารเท่าเทียมเสมอกัน ไม่ผิดแปลกกันตลอดสงไขยโกฏิกัลปไม่สิ้นสุด อักษมติ การสวดภาวนาถึงพระนามแห่งพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ได้ประโยชน์คือ กุศลผลบุญอันนับมิได้ประมาณมิได้ด้วยประการฉะนี้แล" พระอักษยมติทูลถามว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทรงท่องเที่ยวโปรดสัตว์ในมหาตรีสหัสสโลกธาตุนี้อย่างไร ทรงมีอุปายพละด้วยประการไฉนหนอพระเจ้าข้า"
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบพระอัษยมติว่า "ดูก่อนกุลบุตรหากมีสรรสัตว์ในโลกธาตุ สมควรจะได้รับการโปรดด้วยพระพุทธกายแล้ว พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ก็จักทรงอวตารปรากฏเป็นรูปพระพุทธกายมาแสดงธรรมโปรด หากมีสัตว์ผู้สมควรรับการโปรดด้วยรูปกายลักษณะพระสาวก รูปกายลักษณะ อินทระ รูปกายลักษณะมเหศวร รูปกายลักษณะเทวเสนาบดี รูปกายลักษรณะมหาราชา รูปกายลักษณะจุลราชา ฯลฯ รูปกายลักษณะพรามหณ์ รูปกายลักษณะภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รูปกายลักษณะพราหมณี คหปตานี อำมาติยาณี รูปกายลักษณะกุมาร กุมารี รูปกายลักษณะนาค ยักษ์ คนธรรพ์ อสูร ครุฑมโหรค หากมีสัตว์ผู้สมควรรับการคโปรดด้วยรูปกายลักษณะวัชรธรเทพ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ก็จักทรงอวตารปรากฏภาคเป็นรูปลักษณะดังกล่าวนั้น ๆ และรูปกายวัชรธรเทพมาแสดงธรรมโปรด
       "ดูก่อนอักษยมติ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทรงคุณธรรมใช้สำเร็จสมบูรณ์ด้วยประการเช่นนี้ ทรงแบ่งภาคออกเป็นลักษณะต่างๆ ท่องเที่ยวโปรดสัตว์ทั่วไปในโลกธาตุทั้งหลาย ฉะนั้น จึงเป็นการสมควรที่พวกเธอทั้งหลายจักมีเอกจิตบูชาสักการะพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ฯลฯ..ฯลฯ"
      พระสูตรของมหายาน มักมีอรรถข้อความเรียกว่า กลบท หรือเป็นธรรมปริศนาไว้ขบคิดเอาเอง ถ้าขบไม่แตกก็แปลว่ายังค้นหาช่องทางไม่ถูก เข้าไม่ถึงหรือว่ามองไม่ทะลุธรรมบทนั้นๆ ถ้าขบแตกก็หมายความว่าถึงแล้ว ซึ่งความสว่างของพระสูตร ดังข้อความบางประการของพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรต่อไปนี้
กรณีย์โจรภัย
        กล่าวว่า บุคคคลใดภาวนาคาถาของพระโพธิสัตว์กวนอิม โจรภัยก็จะปราศจากไป
        คำว่าโจร ณ ที่นี้อธิบายตามพระธรรมาธิษฐานมีความหมายถึง โจรแห่งอารมณ์ฟุ้งซ่าน หาใช่โจรธรรมดาสามัญไม่ โจรที่จุดคบไฟแดงโห่ร้องเข้าปล้นบ้านนั้นเป็นโจรชนิดออกหน้าออกตามาให้แลเห็น แต่โจรแห่งอารมณ์ฟุ้งซ่านเป็นโจรชนิดไม่มีตัวตน (เพราะตาเรามองไม่เห็นตัวตนของมัน) ปล้นอย่างเงียบๆแลใจเย็น รุมกันเข้าปล้นเราทาง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ ผู้ถูกปล้นมีสติเพลิดเพลินหลงใหลทรัพย์สินเงินทอง สมบัติหมดเปลืองถูกขนออกจากบ้านไป โดยการปล้นชนิดนี้ ทีละ จนน้อยๆจนหมดเนื้อหมดตัว โจรชนิดนี้ไม่ใช่โจรที่มาปล้นเป็นครั้งเป็นคราว มันทำการปล้นทั้งกลางวันและกลางคืนทุกวัน ทั้งๆที่ผู้ถูกปล้นอยู่ในขณะมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ด้วย อาทิเช่น
ทางตา อยากดูหนัง ดูละคร หรือมหรสพอื่นๆ หรืออยากดูของสวยๆ งามๆ ต่างก็จัดการหาหรือขวนขวายสิ่งที่ตนต้องการนั้น เพื่อเป็นการบำบัดความต้องการคือความอยากเสีย สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนโจรปล้นทางตา
ทางจมูก อยากสูดกลิ่นเสาวคนธ์ กลิ่นหอมระรวยต่างๆ ก็พากันไปหาชื้อน้ำอบฝรั่งอย่างชนิดดีๆ จะแพงเท่าไรไม่ว่า ยิ่งชนิดที่หอมทนได้ตั้งอาทิตย์สองอาทิตย์ยิ่งดีใหญ่ ทั้งที่นอนหมอนมุ้ง ตลอดจนอาบน้ำก็ชโลมด้วยเครื่องหอม เหล่านนี้คือโจรปล้นทางจมูก
ทางปาก อยากรับประทานของที่มีรสอร่อยๆ ก็ดิ้นรนไปหารับประทานจากภัตตาคารและถ้าหากมีการนำสุราเข้าร่วมรายการด้วยก็จะยิ่งไปกันใหญ่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือโจรที่เข้าปล้นทางปาก
ทางกาย  มีความอยากแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ชนิดที่มีความสวยงามประดับด้วยจินดามณี อยากนั่งรถยนต์คันใดๆ อยากอยู่ตึกหลังใหญ่ๆ มีการรื่นเริงเลี้ยงดูกันด้วยสุรานารี ฟ้อนรำทำเพลง สนุกสนาน เมื่อขัดสนเข้าก็กู้เงินมาใช้จ่ายโดยยอมเสียดอกเบี้ย อย่างนี้ คือโจรปล้นทางกาย ปล้นทั้งเงินทองและปล้นทั้งสุขภาพอนามัยและหนักเข้าก็ปล้นเสาเรือนเป็นหลังๆ
ทางใจ  เมื่อใจคิดอยากได้ในสิ่งต่างๆ ไม่สมประสงค์อย่างหนึ่ง หรือความอยากใดๆ ได้บรรลุผลสมความปรารถนาแล้ว แต่ถึงขนาดสภาพมีรายได้เงินทองมากมายเกินไป ใจย่อมเกิดฟุ้งซ่านเกินเลยขอบเขตอันดีงาม คือ คิดวิธีหาเงินในทางอกุศลกรรม โจรชนิดนี้ยังปล้นเอกความอิสรภาพด้วย
       หากบุคคลใดสามารถไตร่ตรองตามทำนองในพระคาถาของพระโพธิสัตว์กวนอิม โดยนำเอาเพียงปัญญาคุณอย่างเดียวมาพิจารณา ก็จะแลเห็นว่า ทรัพย์ที่ได้พยายามหามาด้วยความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยนั้น ได้ถูกปล้นไปในทางอารมณ์ฟุ้งซ่าน ถ้านำเอาปัญญาคุณมาใช้ โจรภัยแห่งอารมณ์ฟุ้งซ่านเหล่านั้นก็จะปราศจากไปเอง
กรณีย์อัคคีภัย
       กล่าวว่า บุคคลใดเมื่อภาวนาคาถาของพระโพธิสัตว์กวนอิม อัคคีภัยจะทำอะไรไม่ได้
       หากถอดเป็นธรรมาธิษฐาน อัคคีภัย ณ ที่นี้ หมายถึงอัคคีภัยแห่งกองกิเลสอันประกอบด้วย โลภะอัคคี โทษะอัคคี และโมหะอัคคี หาใช่อัคคีที่เผลาผลาญบ้านเรือนไม่ อัคคีภัยที่เกิดถึงขนาดร้ายแรง เช่น เกิดจากลูกระเบิดปรมาณู ไหม้วินาศหมดทั้งเมือง ก็ยังสามารถดับได้ด้วยน้ำ แต่ไฟชนิดอันมีนามว่า อัคคีแห่งกิเลสราคะนั้น จะอาศัยเอาน้ำในมหาสมุทรมาดับก็ยังไม่ได้ผล อัคคีชนิดนี้ลุกลามแผ่แพร่ไพศาลครอบงำมนุษย์ทั่วโลก และกำลังคุกคามเผาโลกให้ลุกเป็นเปลวแดงอยู่ขณะนี้
       อัคคีแห่งกิเลสราคะ คอยจี้มนุษย์ให้ร้อนเป็นไฟโดยมิรู้สึกตัว (เป็นการเผาผลาญทางอารมณ์) ถึงขนาดเข้า โลภะ โทษะ และโมหะ คอยเป็นผู้บงการ รบราฆ่าฟัน การลอบฆ่าคนตาย การทำร้ายร่างกาย กระทำการปล้นทรัพย์ ทำการฉ้อฉล ยักยอก ล่วงละเมิดศีลธรรม เกี่ยวกับลูกเมียผู้อื่น และเมื่อเหตุก่อเกิดขึ้นผลก็ตามมา คือต้องตกทุกข์ได้ยากโดยการรับโทษทัณฑ์ เพราะเนื่องมาจากกองอัคคีที่ว่ามาข้างต้น ผู้ที่เจริญพระคาถาของพระกวนอิม หากนำเอาคำในพระคาถาพิจารณาใช้ก็จะเกิดประโยชน์กล่าวคือ
       อัคคีภัยแห่งราคะ   จะดับได้ด้วย  สันติคุณ
       อัคคีภัยแห่งโทษะ  จะดับได้ด้วย เมตตากรุณาธิคุณ
       อัคคีภัยแห่งโมหะ  จะดับได้ด้วย ปัญญาธิคุณ
       เมื่อบุคคลใดขบคิดปัญหากลบท หรือเรียกว่าปริศนาธรรม ในพระคาถาของพระโพธิสัตว์กวนอิมแตกฉาน อัคคีภัยที่กล่าวย่อมไม่อาจทำอะไรหรือทำอันตรายแก่ผู้แตกฉานดังกล่าวได้
กรณีย์มหาวาตภัย
       กล่าวว่า บุคคลใดถ้าภาวนาระลึกถึงพระโพธิสัตว์กวนอิม ก็จะรอดจากการจมน้ำตาย
       ทะเลกรณีย์นี้ มีความหมายถึงทะเลทุกข์ ซึ่งเรียกกันในพระพุทธศาสนา สัตว์โลกอุปมาดังผู้อาศัยอยู่เรือน้อยลอยลำล่องเร่พเนจรอยู่กลางทะเลทุกข์ อันเป็นวัฏฏสงสารเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในโลก ได้แก่ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตายสัตว์โลกจะหนีรอดพ้นจากอาการทั้งสี่ที่กล่าวไม่ได้ ต้องอยู่เป็นทุกข์สภาพอผันแปรทุกลมหายใจ เช่น สภาพเป็นเด็กแล้วก็ผันแปรเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่ สภาพเป็นคนหนุ่มภายหลังก็ผันแปรเปลี่ยนเป็นคนชรา สภาพเป็นคนแข็งแรงมีสุขภาพดี แต่ก็ต้องผันแปรเปลี่ยนเป็นคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน สภาพเป็นคนเกิดมาในโลก แล้วก็ผันแปรเปลี่ยนเป็นคนตายจากโลกที่เป็นอยู่
       การฝันแปรเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกๆ นาทีนี้ เป็นเช่นเดียวกับการลาดเอียงสูงต่ำแห่งกระแสคลื่นทะเล จะมีอะไรเป็นแก่สารแน่นอนก็หาไม่ ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็อยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอะไรจะคงทนอยู่ได้ตลอดกาลโดยไม่มีการผันแปรเปลี่ยนแปลง เสื่อมคลายหรือสูญหายไป
       อนิจจัง   คือ  ความไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง ไม่คงทน
       ทุกขัง    คือ   ความทุกข์ ความยาก
       อนัตตา  คือ  สิ่งที่ไม่ใช่เป็นตัวตน
       เหล่านี้เป็นไปตามกรรมบถ คือ ทางของกุศลกรรมคลุกเคล้าอกุศลกรรมเป็นปัจจัยกระทำให้สัตว์โลกมีการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในทะเลทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าบุคคลใดขบปัญญาปริศนาธรรมพระคาถาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้แตกฉาน ก็จะเกิดปัญญาคุณ คือ มีปัญญาหลักแหลมมองทะลุความจริงได้ ก็เท่ากับสามารถนำเรือของตนเข้าถึงฝั่งพ้นจากมหาวาตภัย และรอดตายจากการจมน้ำ
กรณีย์ศัสตรภัย
       กล่าวว่า บุคคลใดเมื่อภาวนาพระคาถาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อาวุธแหลมคมทุกชนิดจะไม่สามารถระคายผิวหนังได้
       คำในพระคาถาข้อสุดท้าย แสดงให้เห็นเด่นชัดว่ามหายานสูตรต่างๆ มีธรรมคาถาเป็น กลบท ชั้นเชิงทำให้ฉงนไปในทางหนึ่ง นัยว่าต้องการให้มีไหวพริบคือ ปัญญา ถ้าเกิดปัญญาคุณขึ้นแล้ว ก็สามารถมองทะลุความจริงว่า พระคาถานั้นหาได้มีความหมายตายตัวตามศัพท์ที่ว่าไม่ เพราะผิวหนังมนุษย์มิใช่เหล็กกล้า จึงจะคงกระพันชาตรี เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วอรรถคาถาคงต้องหมายความเป็นปริศนาธรรมให้คบคิด และจุดอันแท้จริงของพระคาถาได้แก่ บุคคลที่สามารถรักษาอายตนะทั้ง 6 คือ อินทรีย์ 6 นั่นเอง อายตนะมี ตา หู จมูก ปาก กาย และใจ และยังเชื่อมโยงกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์
       ถ้าบุคคลใดมีความสามารถไม่ใยดี และไม่สนใจกับสิ่งที่มากระทบให้เกิดอกุศลกรรม ด้วยการกระทำดังต่อไปนี้คือ
       เมื่อหูได้ยินในสิ่งอกุศล  ก็ทำเป็นเช่นหูไม่ได้ยิน
       เมื่อตาได้ยินในสิ่งอกุศล  ก็ทำเป็นเมินไม่แลเห็น
       เมื่อจมูกได้กลิ่นในสิ่งอกุศล  ก็ทำเป็นเสมือนมิได้รับกลิ่น
       เมื่อลิ้นได้ลิ้มรสในสิ่งอกุศล  ก็ทำเป็นเสมือนไม่ได้รับรู้รส
       เมื่อกายสัมผัสในสิ่งอกุศล  ก็ทำเป็นประดุจไม่ได้สัมผัส
       เมื่อใจได้รับอารมณ์ในสิ่งอกุศล  ก็ทำเป็นไม่รู้สึกเหมือนไม่ได้รับรู้ในอารมณ์นั้นๆ และ ไม่เกิดหวั่นไหว
       สิ่งสำคัญที่สุดคือการระงับตัณหา ที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอกุศลเจตนาขึ้นคือความปรารถนา ความดิ้นรน ความอยาก และความเสน่หา เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอำนาจแห่งธรรมมิตรก็เข้าชักจูงเรียกร้องดูดดึงเอาสันติคุณ ตลอดจนเมตตากรุณาธิคุณ เปรียบเสมือนว่าเป็นเกาะบังป้องกันศัสตราวุธไม่ให้มาระคายผิวหนัง ตามที่สาธยายไว้ในพระสูตร
       ตามที่บรรยายมาแสดงให้เห็นว่า  พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือพระกวนอิมเป็นที่พึ่งพาของปวงสัตว์โลก ประกอบด้วยพระเมตตากรุณาคอยช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกขภัยของสรรพสัตว์ทั้งทั้งไตรภูมิ และพระคาถาของพระองค์ไม่ใช่แต่เพียงท่องบ่นอย่างเดียว ยังรวมกลบทหรือปริศนาธรรมอย่างสมบูรณ์แบบให้ขบคิด เพื่อเป็นการช่วยให้เกิดปัญญา พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ทางอุตตรนิกายเคารพนับถือว่าเป็นพระปัทมปาณีโพธิสัตว์ ได้โปรดสัตว์โลกในอดีตนานมาแล้ว ทั้งทรงตั้ง ปณิธานวัฒนาการโปรดสัตว์โลกต่อไปอีกในอนาคต จึงทรงไม่เสด็จสู่พุทธภูมิ
       พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ จำแนกปางอวตารต่างๆ ได้ 33 ปาง เพื่อประโยชน์ที่จะโปรดสัตว์ แต่ที่พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานเคารพนับถือมากที่สุดมี 6 ปาง คือ
1 พระอารยอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
       มีรูปอย่างมนุษย์สามัญธรรมดา ทรงเครื่องอลังการ วิภูษิต ปางนี้ปางประธานของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทั้งหมดซึ่งมีระบุอยู่ในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรตอนสมันตมุขปริวรรตและ อมิตายุรธยานสูตร พุทธศาสนิกชนชาวจีนหรือฝ่ายมหายานนิยมสร้างพระปฏิมาปางนี้ขึ้นประดิษฐานเคารพบูชามากที่สุดในจำนวนปางอื่นๆ
2 พระสหัสสหัตถสหัสสเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
       ปางนี้เป็นรูปที่มีพระหัตถ์ถึง 1000 หัตถ์ และใจกลางพระหัตถ์มีพระเนตรประดิษฐานอยู่ทุกๆพระหัตถ์ หมายความว่า พระหัตถ์อันมากมาย เป็นสัญญลักษร์แสดงถึงความสามารถที่จะช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์แก่สรรพสัตว์ ส่วนพระเนตรก็เป็นสิ่งแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นผู้มีปัญญารอบรู้อย่างหาขอบเขตที่สุดมิได้ โดยมีพระเนตรถึง 1000 เนตร คอยสอดส่องดูแลความทุกข์สุขของปวงสรรพสัตว์ พระองทรงประทานมนต์มีชื่อเรียกกันติดปากว่า "พระมหากรุณาธารณีอันศักดิ์สิทธิ์" เพื่อภาวนาขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ตามสหัสสหัตถสหัสสเนตรอวโลกิเตศวร มหาประภาสมบูรณ์อภัยมหากรุณาธารณีสูตรอ้างว่า "ดังได้สดับมาดังนี้ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าทรงเสด็จประทับบนโปตละบรรพต ในประสาทของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ท่ามกลางมณฑลลงกตประทับสิงหนาทอาสน์อันผุดผ่องหมดจดอุดมด้วยมณีจินดาอันหาประมาณมิได้ ตบแต่งขึ้นด้วนฉัตรธงล้วนแต่ประกอบขึ้นด้วยรัตนะ สมัยนั้นพระตถาคตประทับอยู่เพื่อจะตรัสพระธารณี เวลานั้นแลมีพระโพธิสัตว์จำนวนเอนกอนันต์ ฯลฯ ได้มาประชุมพร้อมกันท่ามกลางนั้นแล พระอวโลกิเตศวรทรงแสดงระหัสอภิญญามหาเดชา สอดส่องทั่วมหาโลกานุโลก สหัสสตรีโลกธาตุล้วนเป็นรัศมีสีทองโชคติช่วง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อน เหล่าพระโพธิสัตว์จึงทูลถามพระพุทธองค์ว่า "เป็นฤทธาของท่านผู้ใดหนอ"
       พระผู้มีพระภาคทรงตรัสกับพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ฯลฯ ว่า "ดูก่อนกุลบุตรในที่ประชุมนี้มีพระโพธิสัตว์มหาสัตว์พระองค์หนึ่งชื่อว่า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นผู้ทรงพระเมตตากรุณาโปรดสรรพสัตว์นับด้วยอสงขัยอันประมาณมิได้ มีความแก่กล้าช่ำชองพระธารณีเพื่อยังสรรพสัตว์ให้บรรลุบรมสุข ได้แสดงมหิทธาฤทธิ์ ประภาโอฬาร" เมื่อพระองค์ทรงตรัส ในขณะนั้นแล พระอวโลกิเตศวรได้ลุกขึ้นจากที่ประทับเขื้องซ้าย พนมอัญชลีมาทางพระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ข้าแต่พระสุคต ข้าพระพุทธเจ้ามีพระธารณีที่จะยังสัตว์ให้บรรลุถึงความสุข ความสบาย ซึ่งข้าพระองค์ได้รับประทานจากพระตถาคตทรงพระนามว่า โชยกวงวังแจ๋จู๋ยู่ไล้ พระองค์ทรงสังเวชสรรพสัตว์ จึงได้ตรัสประทานพระมหากรุณาธารณีแก่ข้าพระพุทธเจ้า สมัยนั้นแล ข้าพระองค์บรรลุปฐมภูมิ เมื่อได้สดับฟังพระมหากรุณาธารณีก็ได้สำเร็จอัฏฐภูมิ จึงได้ตั้งปณิธานว่า หากข้าพระพุทธเจ้าสามารถที่จะทำให้สัตว์โลกบรรลุถึงประโยชน์อันเป็นสุขก็ขอให้บังเกิดเป็นสหัสสหัตถสหัสสเนตรในบัดดล เมื่อกล่าวจบก็บังเกิดเป้นสหัสสหัตถสหัสสเนตร มีรัศมีสอดส่องทั่วตรีสหัสสโลกธาตุ
        บางพระสูตรได้ระบุว่าพระองค์สามารถที่จะเนรมิตพระเศียร พระเนตรพระหัตถ์ของพระองค์ตั้งแต่ 1-84000 เนื่องด้วยพระองค์ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วนั่นเอง
        การภาวนานี้จะก่อให้จิตเกิดความสุขสงบ เป็นการฝึกรวมสมาธิเพื่อนำมาซึ่งปัญญาในการแก้ทุกข์ และอำนวยความสวัสติมงคล เปรียบเหมือนกับว่า ได้รับการคุ้มครองจากพระองค์ (เพราะการที่จิตเกิดสมาธิความทุกข์ก็ย่อมดับสลายไปเพราะจิตไม่ติดอยู่ในทุกข์อีก จิตที่ปราศจากกังวลเรื่องทุกข์ก็เป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกิดปัญญาและความสงบสุขอย่างแท้จริง)
3 พระหัยครีวะอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
        ตามภาคภาษาสันสกฤตเรียกพระโพธิสัตว์ปางนี้ว่า "ฮอแยกิตลีพอ เป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แบ่งภาคลงมาเพื่อโปรดสัตว์ในเดรัจฉานภูมิ ลักษณะเป็นมหาราชาของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย เป็นปางที่แสดงออกถึงความพิโรธ พระพักตรเหี้ยมดุร้าย เหนือพระเศียรเถิดด้วยหัวอัสดร สรีรกายเหมือนแสงสุริยาอุทัย ประดับด้วยเพทายเพชรนิลต่างๆ พระเพลิงพุ่งออกจากพระโอษฐ์เป็นรัศมี มีเขี้ยวงอกออกจากโอษฐ์ เกษาเป็นดุจดังพระศอราชสีห์ทรงพละกำลังว่องไวดุจม้าแก้วของจอมจักรพรรดิ์ สามารถวิ่งไปทั่วทศทิศ เพื่อ กำราบปราบปรามเยียบย่ำบรรดามาร (มารหมายถึงกิเลสต่างๆ ที่ก่อให้เกิดวัฏฏสงสาร) ทรงมหาพิริยภาพในอันที่จะกำจัดอวิชชาทั้งมวลที่เกิดจากดวงจิตให้หมดสิ้นไปได้ จึงมีชื่อเรียกอีกนามหนึ่งว่า อัศวโทษะประภาราชา นามนี้ปรากฏอยู่ในหมวดประภาราชาสูตร
        พระสูตรบางเล่มกล่าวถึงพระหัยคีวอวโลกิเตศวรว่า มีอยู่ 3 พักตร์ 6 กร บนพระเศียรมีหัวอัศดรสีขาว ทรมหิทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ มีความเพียรพยายามที่จะโปรดสรรพสัตว์ที่ข้องอยู่กับวัฏฏะ สมกับพระมหากรุณาจิตที่ได้ตั้งปณิธานไว้
4 พระเอกทศมุขีอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
       เป็นหนึ่งในหกของนิรมิตกายที่เป็นการรวมลักษณะพระพากตร์ของพระองค์อย่างสมบูรณ์ ประกอบด้วยพระพักตร์ 11 พักตร์ ด้านหน้า3 พระพักต์มีลักษณะแสดงถึงความเมตตากรุณาของพระโพธิสัตว์ ด้านซ้าย 3 พระพักตร์แสดงท่าทางดุร้ายส่อเดโชพล ด้านขวา 3 พักตร์อยู่ในลักษณะมีเขี้ยวแก้วงอกออกจาก พระโอษฐ์ ด้านหลัง 1 พักตร์มีลักษณะยิ้มอย่างดุ เบื้องบนทั้ง 10 มีอีก 1 พักตร์เป็นพุทธพักตร์ และทั้ง 11 พระพักตร์มีรัศมีดติช่วง ประดับด้วยพระมาลามงกุฎพระโพธิสัตว์เทิด และมีพระพุทธปฏิมาประทับอยู่เบื้องบนพระมงกุฎ พระกรซ้ายบนทรงดอกประทุม พระกรซ้ายล่างทรงคณโฑน้ำอมฤต พระกรขวาบน ทรงลูกประคำ พระกรขวาล่างอยู่ในท่าอภัยมุทรา รวมเป็น 4 พระกร
5 พระจัณฑิอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
       จัณฑิโพธิสัตว์มีพระนามว่า เทพมนุษย์บุรุษอวโลกิเตศวร ที่แบ่งภาคมาโปรดในมนุษย์ภูมิ พระสูตรมหายานได้กล่าวถึงปางนี้ในบทปุรฑริกสูตร ตามศัพท์จัณฑิแปลว่า ความสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีราคี แสดงความยกย่องสรรเสริญภาวะจิตเดิมของพระองค์ที่มีพระกรุณาอย่างแท้จริง ทรงความเป็นเลิศด้วยจิตบริสุทธิ์ในจัณฑิสูตรกล่าวไว้ว่า จัณ แปลว่า เอกธรรมเป็นอนุตตร ส่วนฑิ แปลว่าเอกธรรม ไม่อุปาทานหรืออุเบกขาธรรม ตามภาพที่แสดงปางของจัณฑิโพธิสัตว์ จิตรกรมักวาดเป็นภาพสีเหลืองอ่อน มีการตบแต่งด้วยอลังการอื่นๆ ที่เป็นทิพยอาภรณ์ลักษณะอย่างพระมหาบุรุษสรีรประดับด้วยรัตนะทั้ง 7 มีพระเศียรเดียว แต่ 3 พระเนตร 18 พระกร แต่ละกรล้วนมีกำไลหอยสังข์สีขาวประดับพระหัตถ์เบื้องบนทั้ง 2 ทรงปางเทศนา ส่วนพระหัตถ์อื่นๆถือเทพศัตรารัตนและแสดงท่าต่างๆ ตามลำดาบจากขวาไปซ้ายคือ ทรงท่าอภัยะ พระแสงดาบ ลูกประคำ รัตนมณี พระแสงขวาน พระแสงขอ วชิระมาลารัตนะ จินดารัตนฉัตร ปทุมกุณโฑ บ่วงบาศ กงจักร สุพรรณสังข์ บาตรน้ำอมฤต ปรัชญาปารมิตาสูตร
6 พระจินดามณีจักรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
       ในจินดามณีจักรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ธารณีสูตร ตรัสไว้ว่า มีรูปร่างลักษณะท้าวมหาพรหม พระวรกายเปล่งปลั่งดั่งสุวรรณ ทรงมาลามงกุฎพระโพธิสัตว์เนื่องจากพระหัตถ์ขวาทรงจินดามณีอันเป็นสัญญลักษณ์ของแก้วสารพัดนึก ปางนี้จึงมีชื่อว่าปางจินดามณีจักรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ บางแห่งกล่าวว่าพระหัตถ์ทรงรัตนจักร หมายถึงธรรมจักรที่สามารถช่วยให้สัตว์โลกหลุดพ้นจากวัฏฏะตามปรารถนา เหนือพระมาลาเทิดรูปพระอมิตาภะพุทธเจ้า ประทับอยู่ในปางเทศนามี 6 กร พระกรขวาบน ทรงแสดงท่ามุทราดำริ เป็นสัญญลักษณ์แสดงความเมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง พระกรขวาทรงจินดามณีแสดงถึงแก้วสารพัดนึกที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ พระกรขวาล่างทรงลูกประคำ แสดงว่าทรงโปรดทุกข์ของบรรดาสัตว์เดรัจฉาน ด้านพระกรซ้ายบน ทรงแสดงท่าบรรพตประชาเป็นสัญญลักษณ์แห่งการบรรลุสมาธิที่ไม่หวั่นไหว พระกรซ้ายกลางทรงดอกปทุมแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาดปราศจากอบายธรรมทั้งหลาย พระกรซ้ายล่างทรงกงจักร เป็นเครื่องหมายว่า สามารถเทศนาอนุตตรโพธิธรรมให้ผู้อื่นบรรลุตาม
       จากจำนวนพระกรทั้ง 6 ของพระจินดามณีจักรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นเครื่องหมายแสดงความสามารถในการโปรดสรรพสัตว์ทั่วทั้ง 6 ภูมิ ให้บรรลุสู่พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาน
       รูปพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่สร้างขึ้นในครั้งโบราณ มักทำเป็นรูปบุรุษเพศประดับขัติยาภรณ์ตามประเพณีของขาวอินเดีย แสดงถึงความเคารพยกย่องเทิดทูนพระเศียรทรงมณีรัตนะ มีรูปพระอมิตาภะพุทธขนาดเล็กอยู่บนเมาฬี พระหัตถ์ขวายื่นออกในท่าแสดงความกรุณา พระหัตถ์ซ้ายทรงปทุมสีแดง และมักจะประทับยืนอยู่ในดอกบัว พระฉวีสีแดง บางทีก็เป็นสีขาว บ้างก็ปรากฏมี 4 พระกร ยุคต่อๆมาการสร้างรูปพระอวโลกิเตศวรได้มีการเพิ่มพระกรจากเดิมขึ้นเรื่อยๆ จนพระกรมีถึงจำนวน 1000 พระกร ตามประวัติความเป็นมาของปางนี้ ดังอธิบายไว้ในปางข้างต้น
       การที่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นิรมิตกายขึ้นต่างๆ มากมายนั้น เพื่อให้บุคคลที่พระองค์เสด็จไปโปรดเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในพระองค์ก่อนเป็นอันดับแรก การสั่งสอนแนะนำหรือที่เรียกว่าการโปรดสัตว์ก็ง่ายเข้า เพราะผู้ตกอยู่ท่ามกลางทุกข์เกิดความเชื่อมั่นอยู่ก่อนแล้ว
       บทภาวนาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่ประทานแก่สรรพสัตว์ มีชื่อเรียกว่า "มหากรุณาธารณี"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น