วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความรักของพระโพธิสัตว์

โพธิสัตว์เป็นชื่อเรียกบุคคลหรือกลุ่มคนที่ปรารถนาความรู้ แจ้งสูงสุดเพื่อปลดปล่อยตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ ความรู้เหล่านั้นเรียกว่า โพธิญาณ การจะได้มาซึ่งโพธิญาณจำเป็นอย่างยิ่งที่โพธิสัตว์นั้น ๆ จะต้องฝึกฝนบ่มเพาะตนเองในสังสารวัฏอย่างเข้มงวด มีสติรอบด้าน มีปัญญาในทุกแง่มุม ซึ่งหนึ่งในแง่มุมที่โพธิสัตว์จะต้องเรียนรู้และจัดการคือความรัก ความรักของโพธิสัตว์เป็นอย่างไร จะแตกต่างจากความรักของชาวบ้านทั่วไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
หากย้อนกลับไปมองเส้นทางชีวิตของพระศากยะมุนีพุทธเจ้า ในสมัยที่ท่านยังเป็นโพธิสัตว์เสวยพระชาติต่าง ๆ ความรักของท่านในบางชาติไม่ได้ผูกพันอยู่กับเรื่องเพศหรือการแต่งงาน แต่บางชาติที่ชาวพุทธเห็นว่ามีนัยยะสำคัญเช่นพระเวสสันดร รวมถึงชาติสุดท้ายที่ทรงอุบัติเป็นเจ้าชายแห่งศากยะวงศ์ ท่านทรงมีพระมเหสี มีพระโอรส (และธิดา) เฉกเช่นสามัญชน ชีวิตแห่งการเป็นผู้ครองเรือนเยี่ยงนั้น ความรักจะเป็นบ่วงพันธนาการหรือว่าวิถีไปสู่ความหลุดพ้น ความรักจะเป็นอุปสรรคหรือโอกาสให้โพธิสัตว์ได้พัฒนาปัญญาของตน ความรักและการมีครอบครัวเป็นเรื่องยอมรับได้หรือไม่สำหรับคนที่ปรารถนาจะ เดินอยู่ในเส้นทางสายนี้ ดูเหมือนว่าคำตอบของปัญหาเหล่านี้จะเลือนลางเต็มที
แน่นอนว่าตราบใดที่เกิดเป็นคน มีชีวิต จิตใจ และเลือดเนื้อ จะหาคนที่ไม่เคยมีความรักย่อมไม่มีในโลกใบนี้ ความรักในทีนี้ไม่ได้หมายเฉพาะคู่รักหรือสามีภรรยา แต่หมายถึงความรู้สึกผูกพันหรือปรารถนาในทางดีที่เรามีต่อใครบางคน อาจเป็นแม่พ่อ ญาติสนิทมิตรสหาย บริวารแลสัตว์เลี้ยง คู่ครอง ลูกหลาน เรื่อยไปถึงมนุษย์และสัตว์ผู้ร่วมทุกข์คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนเรา ในชีวิตหนึ่ง ๆ ที่เกิดมา เรารักและผูกพันกับคนจำนวนมาก ยิ่งรักมากผูกพันมากก็ยิ่งเจ็บปวดเมื่อต้องพลัดพราก อีกทั้งยิ่งรักมากผูกพันมาก ชีวิตก็จะยิ่งวุ่นวาย เพราะดูเหมือนมีกิจต้องทำเพื่อคนเหล่านั้นมากมาย
เพราะโพธิสัตว์ (เน้นภพชาติมนุษย์) มีร่างกายและจิตใจแบบชาวบ้าน ความรักจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับพวกท่านด้วย โพธิสัตว์เกิดมามีพ่อแม่ บางชาติอาจกำพร้า บางชาติก็อุบัติอยู่ในภาวะของสัตว์เดรัจฉานหรืออมนุษย์ กระนั้นโดยคำสอนว่าด้วยเหตุปัจจัยของพุทธศาสนา การเกิดเองลอย ๆ โดยไม่มีมูลเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้นอกจากคิดฝันเอาเอง อย่างไรโพธิสัตว์ทั้งหลายก็จะต้องอุบัติขึ้นจากเหตุบางอย่าง เพราะเป็นผลของเหตุปัจจัย ทำให้สายสัมพันธ์หรือความผูกพันระหว่างโพธิสัตว์กับเหตุเหล่านั้นมีอยู่ ไม่อาจตัดหรือแยกขาด โพธิสัตว์จึงเกิดมาโดยมีความผูกพันบางอย่างเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอยู่เสมอ และความรักแบบปุถุชนก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวที่ทรงพลังและสลัดออกยากที่สุด อันหนึ่ง
เพราะมีความผูกพันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ทำให้โพธิสัตว์ในแต่ละภพชาติของท่านถูกดึงรั้งไว้ด้วยหน้าที่ที่จะต้องกระทำ ต่อความผูกพันนั้นเป็นอันดับแรก ๆ ถ้าใช้ทศชาติเป็นเกณฑ์พิจารณา จะเห็นว่า พระศากยะมุนีในอดีตชาติที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิบนั้น ท่านล้วนทำหน้าที่ต่อความผูกพันอย่างแข็งแกร่งและจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าชายเตมีย์ที่ยอมแสร้งทำเป็นใบ้อยู่หลายปีเพื่อจะได้ไม่ต้อง ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจตัดสินชี้เป็นชี้ตายผู้คน แม้การทำตนให้ดูไร้สมรรถภาพและเป็นใบ้จะทำให้พระราชบิดากับพระราชมารดาระทม ทุกข์อย่างหนัก แต่การมุ่งปฏิเสธบัลลังก์โดยตรงอาจทำให้สองท่านนั้นเจ็บปวดยิ่งกว่า เจ้าชายน้อยจะบอกผู้อื่นได้อย่างไรว่า ส่วนหนึ่งที่ไม่อยากครองบัลลังก์เนื่องจากเห็นพระราชบิดาตัดสินประหารชีวิต คน (แม้จะเป็นคนผิดก็ตาม)
การไม่ยอมพูดจารวมทั้งทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นคนโง่ เป็นวิธีที่โพธิสัตว์ยอมลำบากเอง ซึ่งจะต้องมีความอดทนข่มใจอย่างแรงกล้า ปุถุชนทั่วไปทำไม่ได้ ยิ่งเหตุผลของการไม่ยอมพูดคือไม่อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ยิ่งเป็นสิ่งที่ห่างไกลเกินกว่าชาวบ้านจะเข้าใจ มันดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะยอมโง่ทำตัวโง่เพราะไม่อยากได้สมบัติ ความผูกพันของเจ้าชายเตมีย์จึงไม่เพียงเป็นความรักที่มีต่อพระราชบิดากับพระ ราชมารดา แต่ยังเป็นความปรารถนาดีที่โพธิสัตว์ยินยอมผูกพันตนไว้กับสัตว์ทั้งหลายด้วย
ในทุกชาติที่เกิดมา โพธิสัตว์จะผูกพันตนไว้ด้วยหน้าที่สำคัญบางประการต่อครอบครัวและสัตว์น้อย ใหญ่ ซึ่งเราจะเห็นภาพของการแสดงความกตัญญูหรือทดแทนคุณบุพการีค่อนข้างชัดเจนใน กรณีของท่านมหาชนก สุวรรณสาม และจันทกุมาร ประเด็นน่าสนใจคือ สิบมหาชาติ (เรียกว่าทศชาติ) รวมชาติสุดท้ายที่ประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยะวงศ์ โพธิสัตว์มีพระชาติกำเนิดเป็นมนุษย์เสียส่วนใหญ่ และอย่างน้อยสี่ชาติได้แต่งงานมีครอบครัวเป็นของตนเอง แม้จะไม่มีคำอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตผู้ครองเรือน เพราะชาดกมุ่งนำเสนอการบำเพ็ญบารมีของโพธิสัตว์เป็นสำคัญ แต่อย่างน้อยจุดหนึ่งที่พอสรุปได้จากการอ่านก็คือ ทุกชาติที่แต่งงานมีครอบครัวนั้น โพธิสัตว์กับคู่ครองของท่านรักกันด้วยความจริงใจ ไม่มีการใช้กำลังบังคับหรือคลุมถุงชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ชาติที่โพธิสัตว์ถือกำเนิดมาในตระกูลสามัญชน ความรักและการครองคู่ของท่านมักราบรื่น สามีภรรยาได้อยู่เคียงกัน เกื้อกูลกันในทางสติปัญญา แม้แยกจากกันบ้างในบางครั้ง นั่นก็เป็นเพียงเหตุการณ์ที่ถูกปัจจัยเบี่ยงเบนไปชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ก่อให้เกิดความเสียใจในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ชาติที่โพธิสัตว์อุบัติอยู่ในวรรณะกษัตริย์จะเป็นอีกแบบและน่าสนใจศึกษา อย่างยิ่ง เพราะในชาติเหล่านั้น โพธิสัตว์จะยินยอมพลัดพรากจากคู่ครอง (รวมลูกหลานและเครือญาติ) เมื่อถึงเวลาอันควร ไม่ว่าจะเป็นพระมหาชนก พระเวสสันดร หรือเจ้าชายสิทธัตถะ การละจากคู่ครองโดยที่ฝ่ายหญิงไม่รู้ตัวล่วงหน้า ทำให้เกิดความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์อย่างหนัก เป็นเหตุให้นักคิดยุคหลังมองว่าโพธิสัตว์ไม่ได้รักคู่ครองของตน แต่ใช้คู่ครองเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตนบรรลุปณิธานเท่านั้น
เบื้องต้น ในพระชาติที่อุบัติเป็นพระมหาชนก พระเวสสันดร และเจ้าชายสิทธัตถะ มีจุดร่วมที่น่าสนใจหลายประการ หนึ่งคือโพธิสัตว์อุบัติอยู่ในวรรณะกษัตริย์ สองคือโพธิสัตว์พบรักและได้อภิเษกกับสตรีผู้อยู่ในวรรณะและมีอุปนิสัยเหมาะ สมกับตน สามคือโพธิสัตว์ได้ใช้ชีวิตผู้ครองเรือนอย่างมีความสุขกับพระมเหสีจนมีพระ ราชโอรสผู้สามารถสืบต่อราชสมบัติแทนพระองค์ในกาลภายหน้า สี่คือโพธิสัตว์เห็นเหตุที่ทำให้ตนเองจำต้องสละชีวิตผู้ครองเรือน จาริกออกบวชหรือไม่ก็ต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ห้าคือโพธิสัตว์ละจากพระมเหสีไปโดยไม่บอกกล่าว ในชาติที่เป็นพระเวสสันดรนั้นต่างออกไปเล็กน้อย คือโพธิสัตว์ไม่ได้ละจากพระมเหสี แต่ยกพระราชโอรสกับพระราชธิดาให้กับชูชกโดยไม่บอกล่วงหน้า ทั้งยังยกพระนางมัทรีให้กับเทวดาผู้แปลงกายมาขอด้วย หกคือการตัดสินใจเช่นนั้นของโพธิสัตว์นำมาซึ่งความขมขื่นพระทัยของพระมเหสี เป็นอย่างยิ่ง และเจ็ดคือพระมเหสีเลือกวิถีชีวิตในแบบที่คล้อยตามการตัดสินใจของพระสวามี
พระมหาชนกทรงเห็นความไม่เที่ยงของต้นมะม่วงที่ถูกโค่นทำลาย เพียงเพราะมีผลอร่อย เป็นที่ถูกใจคนกิน ทรงเชื่อมโยงความไม่เที่ยงของต้นมะม่วงกับความไม่มีแก่นสารของชีวิตกษัตริย์ จึงทรงตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ ครองเพศบรรพชิต จาริกแสวงบุญอย่างคนเร่ร่อน พระนางสีวลีผู้มเหสีทรงใช้อุบายอย่างไรก็ไม่สามารถโน้มน้าวพระสวามีให้กลับ คืนสู่พระราชวัง จึงตัดสินใจในท้ายที่สุดที่จะติดตามพระสวามีไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าพระสวามีอยู่ในสภาพเช่นไร พระองค์ก็เลือกที่จะครองตนอยู่ในสภาพเช่นนั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ ภายหลังที่สถาปนาพระโอรสให้ขึ้นครองราชย์แล้ว พระนางสีวลีก็ครองตนอยู่ในเพศนักบวช รักษาพรหมจรรย์ ประพฤติปฏิบัติเยี่ยงนักบวชที่ดีไปตลอดชีวิต
พระเวสสันดรมีปณิธานแรงกล้าที่จะให้ทุกสิ่งที่ตนสามารถแก่ ผู้ใดก็ตามที่เอ่ยปากขอ พระองค์ทรงคิดบริจาคทั้งวัตถุ อวัยวะ เลือดเนื้อ และร่างกาย เป็นมหาทานตั้งแต่วัยเยาว์ ปัญหาเกิดเมื่อพระองค์ทรงยกพญาช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองให้แก่พราหมณ์ต่าง ถิ่น ทำให้ชาวเมืองพากันโกรธเคืองและเสนอให้ขับไล่เจ้าชายไปสู่ป่าลึก พระเวสสันดรยินดีออกเดินทางไปเพียงลำพัง แต่พระชายาคือพระนางมัทรีทรงยืนกรานจะเสด็จตามพร้อมพระโอรสกับพระธิดา ทั้งสี่พระองค์จึงทรงใช้ชีวิตอยู่ป่าในช่วงเวลาหนึ่ง
ความรักของพระเวสสันดรกับพระนางมัทรีในช่วงเวลาร่วมทุกข์ สามารถเห็นได้ชัดจากข้อความที่ระบุไว้ในชาดก เมื่อฝ่ายชายไม่ประสงค์ให้ฝ่ายหญิงต้องลำบากลำบนเร่ร่อนไปกับตน จึงสั่งสอนเป็นเชิงสั่งเสียไว้ว่า มัทรี เธอพึงให้ทานในท่านผู้มีศีลทั้งหลายตามสมควรเถิด เพราะที่พึ่งอย่างอื่นของสัตว์ทั้งปวงยิ่งไปกว่าทานไม่มี มัทรี เธอพึงเอาใจใส่ในลูกทั้งหลาย พึงเอาใจใส่ในแม่ผัวและพ่อผัว อนึ่งผู้ใดพึงตกลงปลงใจว่าจะเป็นพระสวามีของเธอ ก็พึงบำรุงผู้นั้นโดยความเคารพ
ถ้าไม่มีผู้ใดตกลงปลงใจเป็นพระสวามีของเธอ เพราะเธอกับพี่จะต้องพลัดพรากจากกัน เธอก็จงแสวงหาผู้อื่นมาเป็นพระสวามีเถิด อย่าลำบากเพราะขาดเราเลย เพราะเราจะไปสู่ป่าที่น่าสะพรึงกลัวอันประกอบไปด้วยสัตว์ ร้าย เมื่อเราคนเดียวอยู่ในป่าใหญ่ ชีวิตก็น่าสงสัย (ผู้เขียนเข้าใจว่าหมายถึงแม้อยู่ป่าเพียงลำพังก็ยังน่าสงสัยว่าจะอยู่ได้ หรือไม่)
พระนางมัทรีทรงตัดพ้อพระเวสสันดรที่ชี้แนะอย่างนี้ ทั้งกล่าวว่า ความตายร่วมกับพระองค์ หรือการมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์ ความตายร่วมกับพระองค์นั้นเท่านั้นประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร การก่อไฟให้ลุกโพลงมีเปลวเป็นอันเดียวกัน แล้วจึงตายในไฟที่ลุกโพลงนั้นประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร ช้างพังติดตามพญาช้างผู้ได้รับการฝึกอยู่ในป่า เที่ยวไปตามซอกเขาเสมอบ้าง ไม่เสมอบ้างฉันใด หม่อมฉันจะพาลูกทั้งหลายติดตามพระองค์ไปข้างหลังฉันนั้น หม่อมฉันจักเป็นผู้เลี้ยงง่ายสำหรับพระองค์ จักไม่เป็นผู้เลี้ยงยากสำหรับพระองค์
หากวิเคราะห์ความรักของพระเวสสันดร จะพบว่าความรักของโพธิสัตว์จะเป็นแบบเสียสละตลอดเวลา โพธิสัตว์จะเลือกดำเนินชีวิตแบบจาคะ คือไม่เพียงให้ความปรารถนาดีกับผู้อื่น แต่ยังต้องสละกิเลสของตนออกไปในการให้แต่ละครั้งด้วย ซึ่งจะทำได้ก็เมื่อเห็นแก่ประโยชน์ของบุคคลอื่นก่อนความสุขของตนเสมอ แต่เนื่องจากในกรณีนี้พระนางมัทรีเป็นคู่ที่เคยสร้างบุญบารมีร่วมกับ โพธิสัตว์มาอย่างยาวนานในสังสารวัฏ ทำให้ฝ่ายหญิงไม่ตัดสินใจโดยใช้ความสบายส่วนตนเป็นที่ตั้ง ความรักของพระนางมัทรีจึงเป็นแบบจาคะ คือให้พร้อมกับสละกิเลสของตนออกไปเช่นกัน ทั้งคู่จึงได้ชื่อว่ามีศีล ศรัทธา จาคะ (การสละ) และปัญญาเสมอกัน ข้อกล่าวหาที่ว่าพระเวสสันดรมุ่งแต่จะบำเพ็ญมหาทาน จนทำให้พระนางมัทรีกับพระโอรสธิดาลำบากไปด้วย จึงไม่ถูกต้องนัก
ทีนี้ประโยชน์ของบุคคลอื่นมันกว้างมาก โพธิสัตว์ไม่เพียงต้องทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวและบุคคลที่ตนรัก ทว่ายังต้องทำประโยชน์ให้กับคนหมู่มากด้วย บ่อยครั้งที่ดูเหมือนการให้คน ๆ หนึ่งกลับเป็นการทำร้ายอีกคนหนึ่ง หรือการเอื้อประโยชน์ให้กับคนหมู่มากกลับหักหาญน้ำใจของคนหมู่น้อย เพราะตั้งใจบำเพ็ญมหาทานบารมี ทำให้บริจาคพญาช้างจนชาวเมืองโกรธ หรือสละลูกชายลูกสาวให้คนอื่นนำไปเป็นทาสเฆี่ยนตีตามอำเภอใจ ทำให้คู่ครองของตนเป็นทุกข์ กระนั้น ถามว่าตรงนี้มีปุถุชนคนใดสามารถทำแบบนี้ได้บ้าง
การสละบุตรธิดาในกรณีของพระเวสสันดรไม่ได้เกิดจากความชัง รำคาญ หรือเกลียดลูกของตน เบื้องลึกของการให้นั้นเพราะรู้อยู่เต็มอกว่ามันทำยาก สละคนรักให้คนที่ไม่สมควรได้ ซ้ำยังรู้ว่าคนรักของตนจะต้องถูกทารุณทำร้าย มันอาจเจ็บปวดยิ่งกว่าแค่ให้ร่างกายของตนได้รับความทุกข์ทรมานช่วงสั้น ๆ กิเลสของคนไม่ได้มีแค่ด้านลบด้านร้าย แม้ความอาลัยรักที่ชาวโลกหวงแหน นั่นก็เป็นกิเลสที่ทำให้จิตยึดติดง่ายมาก และอาจจะยึดติดยาวนานกว่าความเกลียดความชังด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ การสละบุตรธิดารวมทั้งภรรยาของโพธิสัตว์จึงเท่ากับเป็นการจาคะกิเลสเบื้อง ลึกของตน อันเป็นกิเลสในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรักความผูกพัน จริงอยู่ว่าในแง่หนึ่งเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของตน แต่ประโยชน์ที่โพธิสัตว์ได้รับเป็นเพียงวิถีทางที่ทำให้ชาวโลกได้ประโยชน์ ยิ่งกว่าในเบื้องปลาย
เมื่อตถาคตเป็นพระเวสสันดร บริจาคพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาซึ่งเป็นธิดา และพระมัทรีเทวีผู้มีวัตรอันดี ผู้ยำเกรงในพระสวามี มิได้คิดเสียดายเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น บุตรทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเราก็หามิได้ พระนางมัทรีเทวีจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้น เราจึงได้ให้ของซึ่งเป็นที่รัก เพราะการให้แบบนี้เท่านั้นจึงจะทำให้เกิดปัญญาช่วยเหลือคน อื่นได้จริง ต่างจากการให้แบบปุถุชนที่ยิ่งให้ก็อาจยิ่งบ่มเพาะตัณหา ส่งเสริมความอยากมีอยากเป็นเพิ่มขึ้น หรือสนับสนุนตัวกูของกูให้หนักแน่นกว่าเดิม ถามว่าโพธิสัตว์ไม่มีจิตใจ ไม่มีความรู้สึกอาลัยหรือเยื่อใยแบบสามัญชนหรือ ตรงนี้เราน่าจะได้คำตอบจากอาการคร่ำครวญของพระเวสสันดร ภายหลังที่ลูกน้อยถูกพราหมณ์ใจร้ายมัดมือด้วยเถาวัลย์และฉุดกระชากจากไป
วันนี้ ลูกน้อยทั้งสองจะหิวข้าว กระหายน้ำอย่างไรหนอ จักเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น ครั้นในตอนเย็นเวลาบริโภคอาหาร ใครจะให้อาหารแก่ลูกทั้งสองนั้นลูกทั้งสองไม่ได้สวมรองเท้า จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าได้อย่างไร ลูกทั้งสองจะเมื่อยล้ามีบาทาทั้งสองข้างฟกช้ำ ใครจะจูงมือลูกทั้งสองนั้นเดินทาง ทำไมหนอ พราหมณ์นั้นช่างร้ายกาจนักไม่ละอาย เฆี่ยนตีลูก ๆ ผู้ไม่ประทุษร้ายต่อหน้าเรา แม้แต่คนที่ตกเป็นทาสีเป็นทาสของเรา หรือคนรับใช้อื่น ใครเล่าที่มีความละอาย จักเฆี่ยนตีคนที่แสนต่ำต้อยแม้นั้นได้
ในช่วงเวลาที่ยังไม่บรรลุปัญญาญาณขั้นสูงสุด แน่นอนว่าโพธิสัตว์ย่อมเกิดความลังเลสงสัยและสับสนใจในความดีที่ตนกระทำ แม้พระเวสสันดรเองก็ยังเกิดความรู้สึกว่าเหตุใดให้ทานแล้วจึงทำให้ตนและคน รักเดือดร้อน ความรู้สึกฝ่ายลบเข้าครอบงำจิตใจในบางครั้ง ถ้าไม่เข้มแข็งพอ การปกป้องตัวตนและของตนจะเกิดขึ้น ซึ่งนั่นจะปิดกั้นโอกาสหล่อหลอมปัญญาเพื่อสัตว์โลกในวงกว้าง เมื่อเรายังอยู่ พราหมณ์ช่างด่า ช่างเฆี่ยนลูกรักทั้งสองของเราผู้มองดูอยู่ เหมือนปลาที่ติดอยู่ที่หน้าไซ หรือเราจักถือเอาธนู จักเหน็บพระขรรค์ไว้ข้างซ้าย นำเอาลูกทั้งสองของเรามา เพราะว่าลูกทั้งสองถูกเฆี่ยนตีเป็นทุกข์ทรมาน การที่กุมารทั้งหลายเดือดร้อน เป็นทุกข์แสนสาหัสนี้ไม่ควรเลย ก็ใครเล่ารู้ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ให้ทานแล้วย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง
แต่เพราะพระเวสสันดรได้บำเพ็ญบารมีมาจนเกือบถึงปลายทางแล้ว พระองค์จึงทรงระงับจิตใจไม่ให้เป็นทุกข์ และเลือกที่จะเชื่อมั่นในความดีของตนมากกว่า ทรงเสียสละคนรักผู้ใกล้ชิดที่ดีที่สุด ผู้คอยติดตามดูแลกันตั้งแต่อยู่ในพระราชวัง ยิ่งพวกเขารักและดีต่อโพธิสัตว์เท่าใด การให้ก็ยิ่งทำได้ยากเท่านั้น เพราะฉะนั้น การสละของพระเวสสันดรจึงไม่ใช่แค่เป็นทาน แต่เป็นทานบารมีจริง ๆ เพราะนอกจากปัญญาเพื่อสัตว์โลกแล้ว โพธิสัตว์ไม่ได้คาดหวังบุญกุศล หรือเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ เพื่อตนเองเลย พูดง่ายๆ ก็คือ เป้าหมายสุดท้ายของการกระทำไม่ได้จบที่ผลประโยชน์ส่วนตน
กรณีของพระมหาชนกกับเจ้าชายสิทธัตถะอาจมีคำอธิบายน้อย กระนั้นก็สามารถอนุมานได้ว่า เหตุที่พระมหาชนกกับเจ้าชายสิทธัตถะเลือกที่จะละทิ้งชีวิตผู้ครองเรือนไปใน เวลาที่พระมเหสีไม่อยู่หรือไม่รู้ตัว อาจเป็นจังหวะที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายตัดใจได้ง่ายกว่า ถ้าแยกตัวออกไปต่อหน้าคู่ครองที่รักและดียิ่งของตน ทั้งคู่อาจไม่สามารถสลัดความอาลัยอาวรณ์ต่อกันได้ ฝ่ายหญิงคงจะติดตามฝ่ายชายไปทุกหนแห่ง ดังที่พระนางสีวลีทรงกระทำต่อพระมหาชนกในช่วงแรกของการจากกัน ความรักจะกลายเป็นห่วงที่ทำให้บรรลุธรรมเนิ่นช้า แต่หากปราศจากความรักของคู่ครองเหล่านี้ โพธิสัตว์ก็ย่อมไม่สามารถฝึกจิตให้แข็งแกร่งเพื่อรักชาวโลกคนอื่น
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า โพธิสัตว์รักสัตว์น้อยใหญ่ได้เพราะมีความรักของคู่ครองเป็นเครื่องหล่อ เลี้ยงใจ ทั้งหล่อเลี้ยงและยกระดับจิตใจ ปราศจากความรักของคู่ครองและคนใกล้ชิด ปราศจากความเสียสละของบุคคลเหล่านี้ การช่วยเหลือสัตว์อื่นของโพธิสัตว์จะด้อยความหมายไปในทันทีดังนั้นคุณสมบัติของคนใกล้ชิดจึงมีความสำคัญต่อการบำเพ็ญบารมีของโพธิสัตว์มาก ถ้าได้คู่ครองที่ไม่เหมาะสม ทั้งคู่จะไม่สามารถเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน จะไม่เข้าใจและบั่นทอนทำลายกัน ซึ่งนั่นจะเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อปณิธานแห่งการได้มาซึ่งปัญญาเพื่อสัตว์โลก
แต่หากพบคู่ครองที่เหมาะสมและเกื้อกูลซึ่งกัน เป็นผู้ที่เข้าใจคุณค่าแห่งการเสียสละ รู้จักรักแบบถอดถอนกิเลสหรือทำลายอัตตา คู่ครองนั้นจะส่งเสริมโพธิสัตว์ให้บรรลุโพธิญาณได้ การบรรลุโพธิญาณของโพธิสัตว์จึงอาศัยกำลังของความรักเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่ใช่ทำลายความรักทิ้งไปอย่างที่เราเคยเชื่อ ในทำนองกลับกัน การเสียสละความรักที่หล่อเลี้ยงจิตใจของตนในสังสารวัฏเป็นเรื่องที่ให้ ยากกว่าแค่เสียสละวัตถุ เลือดเนื้อ อวัยวะ หรือร่างกายของตน การเสียสละความรักความผูกพันทำให้โพธิสัตว์เจ็บปวดไม่ใช่แค่เฉพาะทางกาย แต่เป็นความเจ็บปวดทางด้านจิตใจ บททดสอบที่โพธิสัตว์ต้องเผชิญคือความทุกข์ทางใจ ซึ่งมีผลรุนแรงและยาวนานยิ่งกว่าความทุกข์ทางกาย
ถ้าเราเชื่อว่าใจเป็นนายกายเป็นบ่าว การเสียสละความรักเป็นมหาทานย่อมทำยากกว่าแค่ให้ร่างกาย เหตุเพราะเป็นเรื่องกระทบจิตใจโดยตรง ส่งผลต่อความรู้สึกอย่างแรง อีกทั้งโพธิสัตว์ไม่ได้รับผิดชอบเฉพาะความทุกข์ใจของตน หากยังต้องแบกรับความรู้สึกทุกข์ของคนที่เรารักอีกด้วย จึงเท่ากับว่าการตัดสินใจให้คนที่ตนรักเป็นทาน ทำให้ต้องพิจารณาละเอียดรอบคอบมากกว่าแค่บริจาคร่างกายของตนเป็นทาน เวลาให้ต้องรับผิดชอบทั้งความรู้สึกของเราและทุกคนที่เรารักด้วย
ทีนี้ถ้าโพธิสัตว์ต้องรักทุกคนอย่างเสมอภาค การเลือกทำร้ายคนที่รักตนเพื่อผู้คนที่ตนเมตตา ทำให้คุณค่าความรักของโพธิสัตว์อยู่ที่การเสียสละทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายโพธิสัตว์และบุคคลที่โพธิสัตว์รัก เข้าทำนองว่าเพราะคู่ครองและเครือญาติเสียสละให้เรา เราจึงเสียสละให้แก่โลกได้ คนใกล้ชิดโพธิสัตว์จึงมีส่วนอย่างมากที่ทำให้โพธิสัตว์รักชาวโลกได้อย่างแท้ จริง
และก็เพราะคนใกล้ชิดโพธิสัตว์ได้ให้ความรักแท้แก่โพธิสัตว์ เพื่อที่ว่าโพธิสัตว์จะได้แปรความรักแท้นั้นเป็นเมตตาธรรมต่อสัตว์โลก ทำให้เมื่อหลุดพ้นแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังระลึกนึกถึงสายสัมพันธ์และพระ ญาติอยู่ ทรงหาโอกาสที่จะประทานสิ่งมีค่าให้แก่บุคคลเหล่านี้อยู่เนือง ๆ เพราะพวกเขามีส่วนในการทำเหตุปัจจัยให้ปัญญาโพธิสัตว์เกิดเต็มรอบอย่าง สมบูรณ์ ความเสียสละอดทนของบุคคลเหล่านี้จึงอยู่ในสายพระเนตรของพระพุทธเจ้า เมื่อหยั่งสู่ปัญญาญาณแบบใด คู่ครองและสายสัมพันธ์ใกล้ชิดผู้เคยร่วมความดีกันมาจึงอยู่ในข่ายได้รับกุศล ในแบบนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นพระนางสีวลี พระนางมัทรี พระโอรสชาลี หรือพระนางยโสธรา ตลอดจนพระประยูรญาติทั้งหลาย
ผู้อนุโมทนาความดีของโพธิสัตว์ตั้งแต่ชาติปางก่อน เท่ากับตนได้สร้างเหตุปัจจัยของกุศลเตรียมไว้ เมื่อถึงเวลาพระพุทธเจ้าก็จะเสด็จมาเพื่อปลดปล่อยจิตของพวกท่านให้เป็นอิสระ หยั่งสู่ความหลุดพ้นจากสังสารวัฏ หากแม้ยังไม่ถึงเวลาหลุดพ้น ท่านก็จะได้รับกุศลวิบากตามกำลังปัญญาที่ตนเคยบ่มเพาะไว้ ในชาติที่เป็นพระมหาชนก ดวงจิตของพระนางสีวลีภายหลังสิ้นพระชนม์ได้เสด็จสู่สุคติภูมิเช่นเดียวกับ พระมหาชนก ในชาติที่เป็นพระเวสสันดร พระนางมัทรีได้รับความสุขในบั้นปลายและมีสุคติภูมิ (นัยยะคือสวรรค์) เป็นที่หมาย ส่วนพระนางยโสธราภายหลังได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ทรงออกบวชเป็นภิกษุณีและปฏิบัติขัดเกลาจิตจนหลุดพ้นจากกองทุกข์ไปในที่สุด
แม้ดูเหมือนโพธิสัตว์จะทำให้พระนางเหล่านี้ต้องทนทุกข์มากใน ช่วงหนึ่ง แต่ผลลัพธ์ของความรักและเสียสละของพระนาง ทำให้โพธิสัตว์สามารถเอาชนะกิเลสเบื้องลึกของตน พร้อม ๆ กับเรียนรู้ที่จะรับความรักเพื่อกระจายต่อในวงกว้างขึ้นจนไม่จำกัดโพธิสัตว์เป็นผู้มีส่วนในความดีที่พระนางทรงกระทำ พระนางก็มีส่วนในทุกความดีที่โพธิสัตว์ตัดสินใจกระทำเช่นเดียวกัน สองดวงจิตจึงผูกพันแนบแน่น เมื่อทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน เมื่อสุขก็สุขด้วยกัน และเมื่อฝ่ายหนึ่งหลุดพ้น อีกฝ่ายก็จะได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นไปด้วย โพธิสัตว์กับคู่ครองของท่านจึงเป็นกำลังสนับสนุนกันและกัน ต่างฝ่ายต่างอาศัยกันเป็นเครื่องมือเพื่อปลดปล่อยดวงจิตของทั้งคู่ หาใช่ว่าโพธิสัตว์ใช้คู่ครองของท่านเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายตนเอง ฝ่ายเดียวไม่
กล่าวโดยสรุปก็คือ โพธิสัตว์คือผู้ที่ปรารถนาปัญญาเพื่อปลดปล่อยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แต่การได้มาซึ่งปัญญาแบบนั้น วิถีของท่านจะแตกต่างจากทางของพระสาวก โพธิสัตว์ไม่พึ่งครูหรือคำสอนล่วงหน้าใด ๆ ก่อนตนจะหลุดพ้น ท่านจะบ่มเพาะกำลังของตนเพื่อคลำหาทางออกจากสังสารวัฏเอง เพราะไม่พึ่งครูคนใด คู่ครอง ความรัก และการเสียสละ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะส่งเสริมจิตของท่านให้ก้าวหน้า (แต่ถ้าเข้าใจผิดก็อาจบั่นทอนจิตให้ถดถอยก็ได้)
โพธิสัตว์จำเป็นต้องเรียนรู้ความรัก เพราะความรักคือสายใยที่จะยึดเหนี่ยวจิตของท่านให้อยู่ในสังสารวัฏ ความรักเป็นห่วงผูกพันให้โพธิสัตว์เห็นคุณค่าและความดีของสัตว์โลก (โดยเริ่มต้นจากคู่ครองและคนใกล้ชิดของตน) ความรักทำให้โพธิสัตว์มีจิตใจอ่อนโยนและอ่อนไหว ถ้าใจของตนแข็งกระด้างแล้วจะเข้าใจและช่วยเหลือจิตใจของผู้อื่นได้อย่างไร คนที่มองว่าโพธิสัตว์ไร้หัวใจย่อมไม่เข้าใจแนวคิดนี้อย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้น ความรักแบบคู่ครองจึงไม่ใช่อุปสรรคของผู้ที่เดินอยู่ในเส้นทางสายนี้ แต่เป็นโอกาสลองผิดลองถูกสำหรับคนที่ไม่หวาดหวั่นวงล้อแห่งการเวียนว่ายตาย เกิด ลองผิดจนกว่าจะเจอคู่ที่เหมาะสมและเกื้อกูลซึ่งกัน หากปราศจากรักแท้คือการเสียสละ โพธิสัตว์ย่อมพัฒนาปัญญาและกรุณาของตนบนพื้นฐานของอัตตา คือยึดถือตัวตนและของตนเป็นหลัก และปณิธานอุดมคติย่อมถึงซึ่งกาลอวสาน
เมื่อดวงใจได้สัมผัสรักแท้ โพธิสัตว์กับคู่ครองของท่านจะอาศัยกันและกันเป็นวิถีทางมุ่งสู่จุดหมายเดียว กันในท้ายที่สุด จุดหมายซึ่งดวงจิตของสัตว์ทั้งหมดจะมีส่วนในความรักตรงนี้ด้วย เพียงแต่เราจะไม่เรียกความผูกพันที่โพธิสัตว์มีต่อสัตว์ทั้งหลายว่าความรัก แต่จะเรียกว่าเป็นความกรุณา เมื่อความรักกลายเป็นความกรุณาอย่างสมบูรณ์แล้ว ความรักของคนคู่ก็ย่อมสลายไปเป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ ความรักจึงเป็นบทเรียนโดยตรงของโพธิสัตว์ มันดำรงอยู่ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ระหว่างทาง ตลอดจนอยู่ในจุดหมายปลายทาง ความรักก่อให้เกิดหน้าที่และพันธกิจมากมายแก่โพธิสัตว์ มันเป็นทั้งภาระอันหนักอึ้งและสายน้ำอันอบอุ่น เป็นห่วงร้อยรัดแต่ก็หล่อเลี้ยงดวงจิตของคนที่ไม่ยอมหลุดพ้นไปเพียงลำพัง
การบรรลุโพธิญาณของโพธิสัตว์จึงอาศัยกำลังของความรักเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่ใช่ทำลายความรักทิ้งไปอย่างที่เราเคยเชื่อ ในทำนองกลับกัน การเสียสละความรักที่หล่อเลี้ยงจิตใจของตนในสังสารวัฏเป็นเรื่องที่ให้ ยากกว่าแค่เสียสละวัตถุ เลือดเนื้อ อวัยวะ หรือร่างกายของตน การเสียสละความรักความผูกพันทำให้โพธิสัตว์เจ็บปวดไม่ใช่แค่เฉพาะทางกาย แต่เป็นความเจ็บปวดทางด้านจิตใจ บททดสอบที่โพธิสัตว์ต้องเผชิญคือความทุกข์ทางใจ ซึ่งมีผลรุนแรงและยาวนานยิ่งกว่าความทุกข์ทางกาย
ถ้าเราเชื่อว่าใจเป็นนายกายเป็นบ่าว การเสียสละความรักเป็นมหาทานย่อมทำยากกว่าแค่ให้ร่างกาย เหตุเพราะเป็นเรื่องกระทบจิตใจโดยตรง ส่งผลต่อความรู้สึกอย่างแรง อีกทั้งโพธิสัตว์ไม่ได้รับผิดชอบเฉพาะความทุกข์ใจของตน หากยังต้องแบกรับความรู้สึกทุกข์ของคนที่เรารักอีกด้วย จึงเท่ากับว่าการตัดสินใจให้คนที่ตนรักเป็นทาน ทำให้ต้องพิจารณาละเอียดรอบคอบมากกว่าแค่บริจาคร่างกายของตนเป็นทาน เวลาให้ต้องรับผิดชอบทั้งความรู้สึกของเราและทุกคนที่เรารักด้วย
ทีนี้ถ้าโพธิสัตว์ต้องรักทุกคนอย่างเสมอภาค การเลือกทำร้ายคนที่รักตนเพื่อผู้คนที่ตนเมตตา ทำให้คุณค่าความรักของโพธิสัตว์อยู่ที่การเสียสละทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายโพธิสัตว์และบุคคลที่โพธิสัตว์รัก เข้าทำนองว่าเพราะคู่ครองและเครือญาติเสียสละให้เรา เราจึงเสียสละให้แก่โลกได้ คนใกล้ชิดโพธิสัตว์จึงมีส่วนอย่างมากที่ทำให้โพธิสัตว์รักชาวโลกได้อย่างแท้ จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น