วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อาทิพุทธเจ้า


พระพุทธเจ้าพระองค์แรก
สันสกฤตเรียก สมันตรพุทธเจ้า ทิเบตเรียก
5กุน.ตุ.บสง.ป้5 กุนตูซังโป จีนเรียกโพวเฮี่ยงฮุก
อาทิพุทธเจ้าทรงเป็นพุทธภาวะที่อุบัติขึ้นมาพร้อมกับโลกและสลายไปพร้อมกับโลก แหล่งกำเนิดแห่งพระพุทธเจ้า ทั้งหลายทั่วจักรวาล พระองค์ทรงเป็นธรรมกายดั้งเดิม ด้วยอำนาจฌานของพระองค์ทำให้เกิดธยานิพุทธ5พระองค์ คือพระไวโรจน์พุทธ พระอักโษภยพุทธ พระรัตนสัมภาวพุทธ พระอมิตภพุทธ พระอโมฆสิทธิ  ดังนั้นอาทิพุทธก็คือต้นแบบแห่งพุทธภาวะทั้งมวล
พุทธลักษณะ อาทิพุทธในนิกายดั้งเดิมของทิเบต เป็นรูปบูชาพุทธะวรรณะสีน้ำเงิน ในปางสมาธิมุทรา ส่วนใหญ่ไม่ทรงศิราภรณ์ มาคู่กับศักดิชื่ออาทิธรรม ในนิกายใหม่เป็นรูปบูชาในปางวัชระธารา เป็นรูปพุทธะวรรณะสีน้ำเงิน ทรงศิริภรณ์ ถือวัชระในหัตถ์ซ้ายขวาไข้วเหนือพระอุรา
อาทิพุทธเจ้าทรงเป็นธรรมกายดั้งเดิมนั่นคือพระองค์คือพุทธภาวะ ซึ่งอยู่นอกเหนือการบรรยาย จะว่าพระองค์เป็นแสงสว่างสุกสกาวก็ได้  จะว่าพระองค์เป็นความเวิ้งว่างแห่งบรรยายกาศก็ได้ พระองค์เป็นท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ได้ ด้วยเหตุว่าพระองค์เป็นธรรมชาติอันเปลือยเปล่าแห่งสรรพสิ่ง ในนิกายนิงมาปะดั้งเดิมจึงได้สร้างสัญลักษณ์แห่งพระองค์ด้วยรูปอันปราศจากการปรุงแต่งใดๆ พระวรกายสีน้ำเงินดังท้องฟ้าอันเวิ้งวางสุกใส ไม่ทรงศิราภรณ์ใดๆ
ธรรมชาติแห่งสรรพสัตว์ ด้วยมุมมองแห่งพุทธตันตระยานในหลักการแห่งตรีกาย ประกอบด้วยกายเนื้อและกายทิพย์และธรรมกาย กายเนื้อหรือนิรมานกายก็คือกายที่เห็นได้ด้วยตาซึ่งเกิดจากส่วนผสมอันกลมกลืนกันของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ตัวในการแสวงหาหนทางเพื่อให้เกิดธาตุรู้ ส่วนกายทิพย์หรือสัมโภคกายอันเป็นแหล่งเก็บแห่งธาตุรู้หรือเป็นตัวปัญญา การรู้ธรรมชาติแห่งนิรมานกายให้ผลเป็นพลังแห่งปัญญา ความชัดเจนแจ่มแจ้งของสัมโภคกาย อันเกิดจากการกระตุ้นของพลังแห่งปัญญา ทำให้เกิดพลังแห่งเมตตา และนี่คือคำอธิบายว่าพระโพธิสัตว์ทั้งปวงเป็นตัวแทนแห่งมหาเมตตาของ พระพุทธองค์ด้วยว่าพระโพธิสัตว์เป็นสัมโภคกายแห่งพุทธองค์ การรวมกันระหว่างพลังปัญญาและพลังเมตตา นั่นคือพุทธภาวะหรือองค์ธรรมกาย ด้วยหลักปรัชญาแห่งมหามุทรา ที่ว่า
สรรพสิ่งคือสัญลักษณ์ องค์ศักติในมณฑลการปฏิบัติพุทธตันตระจึงบังเกิดขึ้น ในหนังสือพุทธศาสนาระหว่าง2500ปีที่ล่วงแล้ว  ได้กล่าวถึงพุทธตันตระยานว่า การที่มีผู้กล่าวว่า พุทธตันตระเป็นสาขาหนึ่งของลัทธิไศวะหรือตันตระฮินดูนั้น เป็นบุคคลที่ไม่ได้ศึกษาพุทธตันตระฉบับเดิมจริงๆ ถึงแม้ลักษณะภายนอกจะเหมือนกัน แต่วิธีปฏิบัติและจุดประสงค์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง พุทธตันตระเกิดก่อนฮินดูตันตระเป็นเวลาช้านาน ปรัชญาแห่งฮินดูตันตระมีว่า เมื่อรวมเข้ากับศักติแล้ว จะเพียบพร้อมไปด้วยอำนาจ เพราะการรวมกันของพระศิวะกับศักติ โลกจึงถูกสร้างขึ้น ตรงข้ามกับพุทธตันตระ ไม่ต้องการสร้างโลก ไม่ต้องการอำนาจ เพียงต้องการศูนยตา ภาวะที่ไม่ได้เกิดจากการสร้าง หรือเกิดจากการปรุงแต่ เป็นสภาวะธรรมชาติ มีอยู่โดยปกติก่อนการสร้างและพ้นจากการสร้างทั้งปวง
ศูนยตา คือคุณลักษณ์ของพระพุทธเจ้าทั้งปวง พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าเพราะดำรงศูนยตา ศูนยตา คือภาวะ ที่ท่านนาครชุนได้นำคุณลักษณ์ของพระศากยมุนีพุทธเจ้าออกมาประกาศแก่ชาวโลกได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง และเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานทุกนิกาย ภาวะตรงกลางของความมีและไม่มี ภาวะตรงกลางระหว่างความไม่ใช่ความมีและความไม่ใช่ความไม่มี ความมีก็ไม่ใช่ ความไม่มีก็ไม่ใช่ ความไม่ใช่ความมีก็ไม่ใช่  ความไม่ใช่ความไม่มีก็ไม่ใช่

1 ความคิดเห็น:

  1. ความจริงแล้ว สรุปว่า อาทิพุทธะ หรือ อรรถนารีศวร ก็คือวิถีความจริงแห่งธรรมในธรรมชาตินี่นะ ไม่ใช่ของแปลกหรือของผิดปกติแต่ประการใดเลย แค่คนพุทธของเราเอง ที่มัวแต่ไปสู่รู้เรื่องศาสนาอื่นจนไปอวดรู้ยิ่งกว่าเจ้าของศาสนา แต่ไม่หันมาศึกษาปรัชญาพุทธและทำศาาสนาของตัวเองให้ดีทีี่สุด มันบกพร่องที่พุทธศาสนิกชน ไม่ใช่บกพร่องที่สภาวะธรรม

    ตอบลบ