วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระไวโรจน์พุทธเจ้า

ทิเบตเรียก 5ฯม.ปร.Nง.มฅด._ ร๋นัม.ปัร.ซ๋นัง ม์เจะด์. จีนเรียกพีลูแจ๋นอฮุกหรือไต้ยิกกวงยูไลตระกูลพุทธะ อักขระประจำพระองค์คือ โอม ทรงเป็นธยานิพุทธองค์แรก อันหมายถึงพระมหาสุริยพุทธะ ทรงเป็นประธาน ประทับอยู่ ณ ศูนย์กลางมณฑล เป็นพื้นฐานแห่งพระปัญญาของพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ พระองค์เป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณทั้งปวง พระพุทธไวโรจน์ นับถือกันมากในประเทศจีนและญี่ปุ่น โดยถือว่าพระองค์เป็นผู้ประทานคำสอนพุทธโยคาจารย์โดยผ่านทางพระวัชระสัตว์ อันเป็นคำสอนสำคัญแห่งสมาธิจิต พุทธลักษณะ พระวรกายเป็นสีแห่งแสงสว่างกระจ่างใส หรือสีขาว ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ประทับนั่งบนบัลลังก์ดอกบัวสีฟ้า หรือบนพาหนะสิงโต ในท่ามุทราแสดงธรรม เครื่องหมายประจำพระองค์คือธรรมจักร พระรัศมีสีฟ้าหรือน้ำเงิน ธาตุประจำองค์คือทุกสรรพสิ่ง ศักดิชื่อ วัชระธาตุ สัมโภคกายของพระองค์คือสมันตรภัทรโพธิสัตว์ นิรมานกายของพระองค์คือ กกุสันธะพุทธะ พุทธะวงศ์นั้นสัมพันธ์กับสมาธิจิตอันเปิดโล่ง ความมั่นคงแห่งสมาธิ ความสงบหนักแน่น สมาธิและความโล่งกว้างแห่งจิต เป็นสภาวะพื้นฐานแห่งการตรัสรู้ทั้งปวง ในด้านตรงกันข้ามคือพระองค์เป็นพื้นฐานแห่งอวิชชาหรือสภาวะแห่งขันติอันชาด้าน
การนั่งสมาธิตามแบบพุทธไวโรจน์ อันดับแรกการจัดท่าร่างกายให้อยู่ในสภาพที่เหมาะคือท่าร่างของพระพุทธไวโรจน์มี 7 ตำแหน่งในการวางท่า 1 ขาไขว้ 2 หลังตรง 3 เก็บคาง 4 ลิ้นดุนเพดาน 5 ตามองปลายจมูก 6 ไหล่ตรง 7 มือวางท่าสมาธิหรือวางบนตัก อันดับต่อมา ปล่อยจิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ ว่าง สงบ และปล่อยให้เป็นเช่นนั้น อย่าไปบังคับหรือคอยจ้องจับมัน ขณะปฏิบัติ จิตเกิดนิมิตหรือภาพหรือมีความคิดต่างๆเกิดขึ้นในจิต อย่าไปเพ่ง อย่าไปติดกับภาพหรือนิมิตนั้น หรือมีเสียงใดเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติ ให้เพียงรู้สึกว่ามีเสียง ไม่ต้องพิจารณาต่อว่าเสียงอะไร เป็นเสียงคน เสียงรถ หรือเสียงหมาเห่า หมาเห่าทำไม เป็นต้น สภาพจิตที่เกิดนิมิต เกิดความคิด ขึ้น ถือว่าสภาพจิตในขณะนั้นมีการเคลื่อนไหวหรือวิ่งอยู่ ให้เรามีความรู้สึกว่าจิตกำลังวิ่งอยู่ เมื่อความรู้สึกนี้เกิด การวิ่งก็จะหยุด เมื่อการวิ่งหยุดก็ให้รู้สึกว่าจิตกำลังพักผ่อน พูดง่ายๆคือมี 2 สภาวะ สภาวะที่จิตเกิดความคิด เกิดภาพ เกิดความรู้สึกต่างๆคือจิตกำลังทำงาน เมื่อไรที่จับสภาพนั้นแล้วหยุดไป จิตหยุดเว้นว่าง อยู่ในสภาพที่ไร้ความคิดผ่านเข้ามา คือจิตกำลังพักผ่อน สิ่งซึ่งแยกแยะว่าจิตกำลังทำงานหรือกำลังพักผ่อนคือตัวสติหรือตัวรู้ที่เรานำมาใช้ในการพิจารณาจิต สติหรือตัวรู้ต้องมีอยู่ตลอดเวลา เมื่อจิตทำงานตัวรู้ต้องรู้ เมื่อจิตพักผ่อนตัวรู้ก็ต้องรู้ เมื่อตัวรู้ รู้ว่าจิตพักผ่อนนั่นคือสมาธิจิต แต่ถ้าจิตพักผ่อนแล้วตัวรู้ไม่รู้นั่นคือการเหม่อหรือหลับ การปฏิบัติสมาธิในแนวนี้ ไม่ได้บังคับให้จิตต้องหยุดการทำงาน จิตต้องการทำงานก็ให้ทำไปแต่ตัวรู้ต้องรู้จิตกำลังทำงาน เมื่อตัวรู้รู้ว่าจิตกำลังทำงานมันก็จะหยุดเองโดยธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น