พระอริยเจ้าอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตามรอยทางแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมบรมครู
ผู้สืบสายแห่งพระพุทธเจ้าในอนาคตวงศ์ "พระศรีอริยเมตไตรย"
พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ในภัทรกัป
ตามคำโบราณจารย์ได้เล่าสืบต่อๆ กันมาถึงพระอริยสงฆ์ผู้สืบสายพระศรีอริยเมตไตรยได้ลงมาบำเพ็ญบารมีในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติ ทุกยุคทุกสมัย พระอริยเจ้าผู้สืบสายแห่งพระศรีอริยเมตไตรย ตามตำนานและคำบอกเล่าที่ทราบกันในปัจจุบัน ได้แก่ หลวงปู่ทวด, สมเด็จโต, หลวงปู่ศุข, หลวงพ่อสด และนอกจากนี้ยังมีพระอริยะสงฆ์อีกหลายรูปที่มีปฏิปทาสืบต่อศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งทางเวปได้จัดรวมรวบเอาไว้เท่าที่จะสามารถสืบรู้ประวัติและความเกี่ยวพันธ์ในองค์พระศรีอริยเมตไตรยเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ทำความเข้าใจถึงการเดินทางเข้าสู่ศาสนาแห่งองค์พระศรีอริยเมตไตรย และการบำเพ็ญบารมีแห่งแก้วอริยะเพื่อรื้อขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสาร
หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้
คาถาบูชาหลวงปู่ทวด
ตั้งนะโม ๓ จบ
นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา (๓ จบ)
สัจธรรมแห่งหลวงปู่ทวด
ธรรมะพ่อนี้ง่ายๆ
มองคนดีอย่างเดียว ทำความดีอย่างเดียว
เป็นผู้ให้...ให้มากที่สุดนั้นก็หมายถึงว่ามีเมตตาอย่างเดียว
อย่าประมาท อย่าขาดสติ สี่ข้อพอแล้ว
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็ดี แต่อันนี้เราเป็นธรรมะคมๆ ธรรมะในพุทธะ
เป็นคนดีอย่างเดียว คนเลวคนชั่วไม่มองเขา
เป็นผู้ให้มากๆ ให้ทุกคน...ไม่เลือก
คนไหนเราให้ได้ก็ให้ ทำดี...เราต้องให้ได้
แต่ไม่ใช่ว่าให้ไปหมดตัว
จำได้ไหม
ไม่ประมาท ไม่ขาดสติ ใช้ได้
ประวัติโดยย่อ
หลวงปู่ทวดเป็นบุตรของนายหูขาว มารดาชื่อว่า นางจันทร์ เกิดเมื่อ ปีมะโรง (งูใหญ่) เดือน ๔ วันศุกร์ พ.ศ. ๒๑๒๕ ที่บ้านสวนจันทร์ ปัจจุบันคือ ต.ชุมพล อ.จะทิ้งพระ(สทิงพระ)จ.สงขลา เวลาเกิดตอนเช้าเวลาตี ๕.๓๕ นาที หลวงปู่ทวดอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาในเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๑๔๕ เวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและได้ฉายาว่า "สามีราโม ภิกขุ" เมื่อบวชอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว หลวงปู่ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนที่วัดเสมาเมือง ๔ พรรษาจนเจนจบในพระธรรมบทต่างๆและออกเดินทางเพื่อไปศึกษาพระธรรมต่อที่กรุงอโยธยาเมื่อวันที่ ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปี พ.ศ.๒๑๕๐ หลวงปู่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่วัด “ราชานุวาส” ในเมืองอโยธยา เป็นระยะเวลา ๕ ปีนับได้ว่ามีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ตลอดถึงคาถาอาคมต่างๆและได้สร้างคุนูปาการแก่เมืองอโยธยาจนได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์” เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยชราจึงได้ออกเดินธุดงค์เพื่อเผยแพร่หลักธรรมจนถึงวัดพะโคะและได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นมาใหม่ เมื่อพระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นคงดีแล้วหลวงปู่ก็ออกเดินธุดงค์จนถึงเมืองไทรบุรีเพื่อเผยแพร่คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับชาวบ้านในถิ่นนั้นๆเพื่อให้ชาวบ้านอยู่ในศีลในธรรม รู้จักบาปบุญคุณโทษ และได้ทำการสร้างและบูรณะวัด "โกนะไหน" ขึ้นมาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในละแวกนั้น หลวงปู่ทวดได้ละสังขารเมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๒๑๕ อายุได้ ๙๐ ปีเต็ม
ปาฎิหาริย์เหยียบน้ำทะเลจืด
เมื่อครั้งที่หลวงปู่ได้เรียนจบชั้นธรรมบทที่วัดเสมาเมืองแล้วก็ได้ขอโดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์ลงเรือที่ท่าเมืองจะทิ้งพระจะไปกรุงอโยธยาพระนครหลวงเพื่อศึกษาเล่าเรียนธรรมเพิ่มเติมอีก เรือสำเภาใช้ใบแล่นถึงเมืองนครศรีธรรมราช นายอินทร์เจ้าของเรือได้นิมนต์ขึ้นบกไปนมัสการพระบรมธาตุตามประเพณีชาวเรือเดินทางไกลซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน ๆ เพื่อขอความสวัสดีต่อการเดินทางทางทะเลแล้วพากันลงเรือสำเภาที่คลองท่าแพ เรือสำเภาใช้ใบสู่ทะเลหลวงเรียบร้อยตลอดมาเป็นระยะทาง ๓ วัน ๓ คืน วันหนึ่งท้องทะเลฟ้าวิปริตเกิดพายุ ฝนตกมืดฟ้ามัวดินคลื่นคะนองอย่างบ้าคลั่ง ทำให้เรือจะแล่นต่อไปก็ไม่ได้ จึงลดใบทอดสมอสู้คลื่นลมอยู่ถึง ๓ วัน ๓ คืน จนพายุสงบเงียบลงเป็นปกติ แต่เหตุการณ์บนเรือสำเภาเกิดความเดือดร้อนมากเพราะน้ำจืดที่ลำเลียงมาหมดลง คนเรือไม่มีน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหาร นายอินทร์เจ้าของเรือเป็นเดือดเป็นแค้นในเหตุการณ์ครั้งนั้นหาว่าเป็นเพราะหลวงปู่ทวดได้อาศัยมากับเรือจนเป็นเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์วิปริต ซึ่งตนไม่เคยประสบเช่นนี้มาก่อน จึงบันดาลโทสะจึงไล่ให้หลวงปู่ลงจากเรือสำเภา หมายจะปล่อยให้ท่านไปตามยะถากรรม ขณะที่หลวงปู่ทวดกำลังลงนั่งอยู่ในเรือเล็กท่านได้เสี่ยงอธิษฐานบารมี หากว่าท่านจะได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมต่อที่กรุงอโยธยาก็ขอให้น้ำทะเลที่ท่านเหยียบลงไปจืด เมื่อท่านอธิษฐานเสร็จแล้วท่านก็ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือลองตักน้ำขึ้นดื่มกินดู ปรากฏว่าน้ำทะเลที่เค็มจัดตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำที่มีรสจืดสนิท ลูกเรือคนนั้นจึงร้องบอกขึ้นไปบนเรือใหญ่ให้เพื่อนทราบ พวกกะลาสีบนเรือใหญ่จึงพากันตักน้ำทะเลตรงนั้นขึ้นไปดื่มแก้กระหาย เป็นที่อัศจรรย์ในอภินิหารของพระภิกษุหนุ่มยิ่งนัก ความทราบถึงนายอินทร์เจ้าของเรือจึงได้ดื่มน้ำพิสูจน์ดูปรากฏว่าน้ำทะเลที่จืดนั้นมีบริเวณอยู่จำกัดเป็นวงกลมประมาณเท่าล้อเกวียนนอกนั้นเป็นน้ำเค็มตามธรรมชาติของทะเลจึงสั่งให้ลูกเรือตักน้ำในบริเวณนั้นขึ้นบรรจุภาชนะไว้บนเรือจนเต็ม นายอินทร์และลูกเรือได้ประจักษ์ในอภินิหารของท่านก็เกิดความหวาดวิตกภัยพิบัติที่ตนได้กระทำไว้ต่อท่าน จึงได้นิมนต์ให้ท่านขึ้นบนเรือใหญ่แล้วพากันกราบไหว้ขอขมาโทษตามที่ตนได้กล่าวคำล่วงเกินต่อท่าน แล้วจึงถอนสมอเรือออกเดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงอโยธยาด้วยความปลอดภัย
แก้ปริศนาธรรมกู้บ้านเมือง
ในสมัยนั้นประเทศลังกาอันมีพระเจ้าวัฏฏะคามินีครองราชเป็นเจ้าแผ่นดินมีพระประสงค์จะได้กรุงอโยธยาไว้ใต้พระบรมเดชานุภาพ แต่พระองค์ไม่มีประสงค์จะก่อสงครามให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันให้ประชาชนข้าแผ่นดินเดือดร้อนจึงมีนโยบายอย่างหนึ่งที่สามารถจะเอาชนะประเทศอื่นโดยการท้าพนัน พระองค์จึงตรัสสั่งให้พนักงานพระคลังเบิกจ่ายทองคำในท้องพระคลังหลวงมอบให้แก่นายช่างทองไปจัดการหลอมหล่อเป็นตัวอักษรเท่าใบมะขามจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด แล้วมอบให้แก่พราหมณ์ผู้เฒ่า ๗ คน พร้อมด้วยข้าวของอันมีค่าบรรทุกลงเรือสำเภา ๗ ลำ พร้อมด้วยพระราชสาสน์ให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๗ นำลงเรือสำเภาใช้ใบแล่นไปยังกรุงอโยธยา เมื่อเรือสำเภาจอดท่ากรุงอโยธยาเรียบร้อยแล้ว พราหมณ์ทั้ง ๗ ได้พากันเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงไทยและถวายสาสน์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงไทยทรงอ่านพระราชสาสน์นความว่า พระเจ้ากรุงลังกาขอท้าพระเจ้ากรุงไทยให้ทรงแปลพระธรรมในเมล็ดทองคำและเรียบเรียงลำดับให้เสร็จภายใน ๗ วัน ถ้าแปลและเรียบเรียงได้ทันกำหนดพระเจ้ากรุงลังกาขอถวายข้าวของอันมีค่าทั้ง ๗ ลำเรือสำเภาเป็นบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงไทย แต่ถ้าพระเจ้ากรุงไทยแปลเรียงเมล็ดทองคำไม่ได้ตามกำหนดให้พระเจ้ากรุงไทยจัดการถวายดอกไม้เงินและทองส่งเป็นราชบรรณาการแก่กรุงลังกาทุก ๆ ปีตลอดไป
เมื่อพระองค์ทรงทราบพระราชสาสน์อันมีข้อความดังนั้น จึงทรงจัดสั่งนายศรีธนญชัยสังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศให้เข้ามาแปลธรรมในพระมหานครทันกำหนด เมื่อประกาศไปแล้ว ๖ วัน ก็ไม่มีใครสามารถแปลเรียบเรียงเมล็ดทองคำนั้นได้ พระองค์ทรงปริวิตกยิ่งนักและในคืนวันนั้นพระองค์ทรงสุบินนิมิตว่ามีพระยาช้างเผือกผู้มาจากทิศตะวันตกขึ้นยืนอยู่บนพระแท่นในพระบรมมหาราชวังได้เปล่งเสียงร้องก้องดังได้ยินไปทั่วทั้งสี่ทิศ ทรงตกพระทัยตื่นบรรทมในยามนั้นและทรงพระปริวิตกในพระสุบินนิมิตเกรงว่าประเทศชาติจะเสียอธิปไตยและเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพทรงพระวิตกกังวลไม่เป็นอันบรรทมจนรุ่งสาง เมื่อได้เสด็จออกยังท้องพระโรงสั่งให้โหรหลวงเข้าเฝ้าโดยด่วนและทรงเล่าสุบินนิมิตให้โหรหลวงทำนายเพื่อจะได้ทรงทราบว่าร้ายดีประการใด เมื่อโหรหลวงทั้งคณะได้พิจารณาดูยามในพระสุบินนิมิตนั้นละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว ก็พร้อมกันกราบถวายบังคมทูลว่าตามพระสุบินนิมิตนี้จะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมาจากทิศตะวันตกอาสาเรียงและแปลพระธรรมได้สำเร็จ พระบรมเดชานุภาพของพระองค์จะยั่งยืนแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสี่ทิศเมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วก็คลายพระปริวิตกลงได้บ้าง
ด้วยเดชะบุญบันดาลในเช้าวันนั้นบังเอิญศรีธนญชัยไปพบหลวงปู่ทวดที่วัดราชานุวาส ได้สนทนาปราศรัยกันแล้วก็ทราบว่าท่านมาจากเมืองตะลุง ( พัทลุงเวลานี้ ) เพื่อศึกษาธรรม ศรีธนญชัยเล่าเรื่องกรุงลังกาท้าพนันให้แปลธรรม แล้วถามว่าท่านยังจะช่วยแปลได้หรือ หลวงปู่ทวดตอบว่าถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ศรีธนญชัยจึงนิมนต์ท่านเข้าเฝ้า ณ ที่ประชุมสงฆ์ ขณะที่หลวงปู่ทวดถึงประตูหน้าวิหาร ท่านย่างก้าวขึ้นไปยืนเหยียบบนก้อนหินศิลาแลง ทันทีนั้นศิลาแลงได้หักออกเป็นสองท่อนด้วยอำนาจอภินิหารเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อเข้าไปในพระวิหารพระมหากษัตริย์ตรัสสั่งพนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันสมควร แต่ก่อนที่ท่านจะเข้านั่งที่แปลพระธรรมนั้นท่านได้แสดงกิริยาอาการเป็นปัญหาธรรมต่อหน้าพราหมณ์ทั้ง ๗ กล่าวคือ ท่าแรกท่านนอนลงในท่าสีหะไสยาสน์ แล้วลุกขึ้นนั่งทรงกายตรงแล้วกระเถิบไปข้างหน้า ๕ ที แล้วลุกขึ้นเดินเข้าไปนั่งในที่อันสมควร พราหมณ์ผู้เฒ่าทั้ง ๗ เห็นท่านแสดงกิริยาเช่นนั้นเป็นการขบขันก็พากันหัวเราะและพูดว่า นี่หรือพระภิกษุที่จะแปลธรรมของพระบรมศาสดา อะไรจึงแสดงกิริยาอย่างเด็กไร้เดียงสา พราหมณ์พูดดูหมิ่นท่านหลายครั้ง ท่านจึงหัวเราะ แล้วถามพราหมณ์ว่า
"ประเทศชาติบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ท่านไม่เคยพบเห็นกิริยาเช่นนี้บ้างหรือ ?"
พราหมณ์เฒ่าฉงนใจก็นิ่งอยู่ ต่างนำบาตรใส่เมล็ดทองคำเข้าประเคนท่านทันที เมื่อหลวงปู่ทวดรับประเคนบาตรจากมือพราหมณ์มาแล้วท่านก็นั่งสงบจิตอธิษฐานแต่ในใจว่า "ขอบารมีแห่งพุทธะ คุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาอันรักษาพระนครตลอดถึงเทวาอารักษ์ศักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบัลดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่มาขัดขวางขอให้แปลพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์สำเร็จสมปรารถนาเถิด"
ครั้นแล้วท่านคว่ำบาตเททองเรี่ยราดลงบนพรม ด้วยพุทธานุภาพและอำนาจบารมีอภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนาประกอบกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย ท่านก็ได้ลงมือเรียบเรียงและแปลอักษรในเมล็ดทองคำจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด เป็นลำดับโดยสะดวกและไม่ติดขัดประการใดเลย ขณะที่หลวงปู่ทวดเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้วปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไป ๗ ตัว คือตัว สัง วิ ทา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาอักษรทองคำที่พราหมณ์ซ่อนไว้ในมวยผม พราหมณ์ทั้ง ๗ คนยอมจำนน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้แก่ท่านโดยดี ปรากฏว่าหลวงปู่ทวดแปลพระไตรปิฎกในเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์ เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น
สมเด็จพระเจ้ากรุงไทยทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่งจึงตรัสสั่งถวายราชสมบัติให้หลวงปู่ทวดครอง ๗ วัน แต่ท่านไม่ยอมรับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณเพศไม่สมควรที่จะครองราชสมบัติอันผิดกิจของสมณควรประพฤติ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าทรงแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์ ทรงพระราชทานนามว่า "พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์" ในเวลานั้น
สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี
ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้งในข้อนั้นๆอย่างสูงสุดไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้วอาจจะเห็นผลแก่ตนประจักษ์แท้แก่ตนเอง...
คาถาบูชาสมเด็จโตตั้งนะโม ๓ จบ
อิติปิโสภะคะวา พรหมรังสี นามะโต อะระหัง พุทธะโต นะโม พุท ธา ยะ
สัจธรรมแห่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี
“พิจารณา มหาพิจารณา”
การของโลกก็ดี การของชาติก็ดี การของศาสนาก็ดี กิจที่จะพึงกระทำต่างๆ ในโลกก็ดี กิจควรกระทำสำหรับข้างหน้าก็ดี กิจควรทำให้สิ้นธุระทั้งปัจจุบันและข้างหน้าก็ดี สำเร็จกิจเรียบร้อยดีงามได้ด้วยกิจพิจารณาเป็นชั้นๆ พิจารณาเป็นเปลาะๆ เข้าไป ตั้งแต่หยาบๆ และปูนกลางๆ และชั้นสูงชั้นละเอียด พิจารณาให้ประณีตละเมียดเข้า จนถึงที่สุดแห่งเรื่อง ถึงที่สุดแห่งอาการ ให้ถึงที่สุดแห่งกรณีให้ถึงที่สุดแห่งวิธี ให้ถึงที่สุดแห่งประโยชน์ยืดยาว พิจารณาให้รอบคอบทั่วถึงแล้ว ทุกๆ คนจะรู้จักประโยชน์คุณเกื้อกูลตนตลอดทั้งเมื่อนี้เมื่อหน้า จะรู้ประโยชน์อย่างยิ่งได้ก็ต้องอาศัยกิจพิจารณาเลือกเฟ้นค้นหาของดีของจริงเด่นเห็นชัดปรากฏแก่คนก็ด้วยการพิจารณาของตนนั่นเอง ถ้าคนใดสติน้อยถ่อยปัญญาพิจารณาเหตุผล เรื่องราวกิจการงานของโลก ของธรรม แต่พื้นๆ ก็รู้ได้พื้นๆ ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาเป็นอย่างกลางก็รู้เพียงชั้นกลาง ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้งในข้อนั้นๆ อย่างสูงสุด ไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้ว อาจจะเห็นผลแก่ตนประจักษ์แท้แก่ตนเอง ดังปริยายมาทุกประการ
ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) มีนามเดิมว่า “โต” เมื่ออุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้นามฉายาว่า “พรหมรังษี” ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จ.ศ. 1150 เวลา 06.45 น. ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ที่บ้านท่าหลวง จังหวัดพิจิตร มารดาชื่องุด บิดาไม่ปรากฏแน่ชัด เนื่องจากอาชีพของมารดาและตาต้องเร่ร่อนขายของไปตามหัวเมืองต่างๆ อยู่ตลอดจึงนำเด็กชายโตไปฝากเป็นลูกศิษย์พระอยู่กับหลวงตาเกตุ วัดหลวงพ่อเพชร
เด็กชายโตในตอนเล็กๆ เป็นเด็กฉลาดมีปัญญาหลักแหลมชอบที่จะศึกษาเรียนรู้ภาษาขอมกับหลวงตาเกตุอยู่เป็นประจำไม่ค่อยจะเหมือนเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ยังมีนัยของเด็กชายทั่วๆ ไป พอเด็กชายโตอายุได้ 7 ขวบ หลวงตาเกตุก็ทำการบวชเณรให้ศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมกับหลวงตาเกตุจนเกิดความชำนาญและเรียนรู้เข้าใจในภาษาจนหมดไส้หมดพุงของหลวงตาแล้วสามเณรโตจึงออกแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้เพื่อจะร่ำเรียนวิชา สามเณรโตจึงตัดสินใจย้ายติดตามโยมตากับแม่ไป อยู่ ณ วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง เพื่อหาที่ศึกษาเรียนรู้ในพระไตรปิฎกและอภิธรรมบาลีและมูลกัจจายน์ต่างๆ แต่ก็ยังหาครูบาอาจารย์ดีๆ เก่งๆ ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ไม่ได้จนหลวงตาเกตุได้นำไปถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสุก วัดพลับซึ่งต่อมาได้ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน)
สามเณรโตได้เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสุก และได้เรียนพระไตรปิฎกกับหลวงพ่อวัดพลับ เรียนมูลกัจจายน์กับหลวงพ่อวัดแจ้ง เรียนพระธรรมบาลีสันสกฤตกับหลวงพ่อวัดมหาธาตุ ซึ่งหลวงพ่อวัดไหนเก่งทางด้านใดมีความสามารถทางด้านใด สามเณรโตก็จะเข้าไปถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อที่จะเล่าเรียนวิชาด้วย จึงทำให้วิชาเกือบจะทุกสาขาทุกแขนง สามเณรโตสามารถเล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์ต่างๆ จนจบหมด มีความรู้ความสามารถตั้งแต่ยังเป็นสามเณรน้อย จึงกลายเป็นที่รักใคร่ของหลวงพ่อสุกมาก และที่ขึ้นชื่อของสามเณรโตก็คือท่านเป็นเณรนักเทศน์ที่หาตัวจับยาก แสดงธรรมได้ลึกซึ้งเข้าถึงจิตใจชาวบ้าน หลวงพ่อสุกจึงได้นำสามเณรโตไปฝากตัวกับรัชกาลที่ 1 ให้เข้าไปอยู่ในพระราชวังเพื่อที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้วิทยาการต่างๆ จากโหรหลวง องคมนตรีและคณะพราหมณ์ภายในพระมหาราชวังจนสำเร็จวิชาโหราศาสตร์เรียนรู้ในจักราศีโลก เรียนรู้ดวงดาวและตำราพิชัยสงครามต่างๆ ในการปกครองบ้านเมือง สามเณรโตถึงแม้ว่าจะอายุยังน้อยแต่ก็เป็นที่รอบรู้วิชาและวิทยาการต่างๆจากครูบาอาจารย์หลายรูปหลายองค์จนกลายเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 1 เป็นอย่างมากซึ่งท่านจะมอบหมายงานสำคัญทางด้านศาสนาให้สามเณรคอยช่วยเหลือดูแลอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในยุคต้นๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีวัดวาต่างๆ ร้างราไปเป็นจำนวนมากขาดพระที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทะนุบำรุงรักษาจึงมอบหมายให้สามเณรโตคอยเข้าไปช่วยเหลือดูแลบูรณะวัด วัดไหนร้าง วัดไหนที่ไม่เจริญก็ให้สามเณรโตเข้าไปหาทางพัฒนาเพื่อที่จะยกฐานะขึ้นเป็นวัดหลวงสืบไป เมื่อสามเณรโตอายุครบบวชก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นนาคหลวงโดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นอุปัชฌาย์ให้
เมื่อบวชพระเรียบร้อยแล้วก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังควบคู่ไปกับการสอนพระสอนเณรและลูกท่านหลานเธอและเชื้อพระวงศ์ต่างๆ ให้เรียนรู้ในพระวินัย พระไตรปิฎก อภิธรรมบาลีรวมถึงแนวทางของการปฏิบัติทั้งด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ เพราะไม่มีพระรูปใดแตกฉานรอบรู้พระปริยัติธรรมจนหมดเกือบทุกแขนง พระภิกษุโตรับภาระหน้าที่ในการพัฒนาทั้งทางโลกและทางธรรมอยู่เป็นระยะเวลาถึง 14 ปีเต็ม บ้านเมืองก็เข้าสู่สภาวะปกติ ภิกษุโตก็มีชนมายุ 35 ปีจึงหลบหนีออกจากวัดระฆังละทิ้งภาระหน้าที่ทั้งปวงในทางโลกีย์เพื่อที่จะยกระดับจิตเข้าสู่การออกไปศึกษาธรรมสัจจะชั้นสูงด้วยการธุดงควัตรออกไปใช้ชีวิตอยู่ตามถ้ำตามป่าตามเขา ธุดงควัตรไปเรื่อยๆเพื่อจะฝึกฝนปฏิบัติต่อจิตทำฌานสมาบัติของตนเองให้แก่กล้าเพื่อที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้สัจจะธรรมในป่า นับจากทุ่งใหญ่นเรศวรท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ดงพญาเย็นเทือกเขาสูงแนวเขตติดต่อของจังหวัดสระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ โคราช เข้าไปหลบปฏิบัติอยู่ตามเถื่อนถ้ำต่างๆ ในละแวกของ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรีในปัจจุบันนี้จนได้สร้างวัดพรหมรังษีขึ้น เมื่อท่องเที่ยวปฏิบัติธรรมจนได้ฌานขั้นสูง สำเร็จอนุสติฌานและเจโตปริยญาณได้ระยะเวลาหนึ่งก็เกิดคิดถึงโยมมารดาอยากจะนำบุญบารมีในการปฏิบัติของตนเองกลับไปสั่งสอนให้กับโยมมารดาและญาติโยม ณ บ้านเกิดของตน ภิกษุโตจึงตัดสินใจกลับไปอยู่บูรณะวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทองให้เจริญรุ่งเรือง เมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ก็เกิดความระลึกถึงครูบาอาจารย์ “ขรัวโต” ซึ่งเคยอบรมสั่งสอนประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่ท่านและเหล่าเชื้อพระวงศ์ต่างๆ รัชกาลที่ 4 จึงออกคำสั่งให้ทุกแว่นแคว้นทุกหัวระแหง ทุกมุมเมืองช่วยตามหาพระโตกลับเข้าวังด่วน โดยบอกรูปลักษณ์ที่โดดเด่นของภิกษุโตออกไปตามสถานที่ต่างๆ ทำให้บรรดาพระภิกษุสงฆ์ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับภิกษุโตถูกจับกุมตัวพาเข้าวังหมดกลายเป็นความทุกข์ร้อนใจเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ จนภิกษุโตอดรนทนอยู่ต่อไปไม่ไหวก็ยอมกลับเข้าสู่เมืองหลวงตามเดิม เมื่อกลับเข้าสู่เมืองหลวงแล้ว รัชกาลที่ 4 ก็ได้แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะเพื่อให้สมเด็จฯโต ท่านกลับมาบูรณะและฟื้นฟูพัฒนาพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองทั่วทุกวัดกลายเป็นพระหลวงที่ต้องแบกภาระรับผิดชอบวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งที่สมเด็จโตไม่ปรารถนาในยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้นก็ต้องทำใจยอมรับภาระนั้นมาปฏิบัติ เพราะนิสัยโดยส่วนตัวของท่านแล้ว ท่านจะถือวินัยสงฆ์เป็นหลัก ท่านจะเคร่งครัดในข้อวัตรข้อปฏิบัติของสงฆ์มาโดยตลอดมิได้ขาด
กิจของสงฆ์ท่านไม่เคยบกพร่อง ตื่นตั้งแต่ตีสาม ล้างหน้าล้างตา ครองจีวรเสร็จตีสามกว่าลงมานำพระเณรและญาติโยมทำวัตรเช้า ก่อนที่จะออกไปบิณฑบาตในทุกๆ เช้า พายเรืออีป๊าบออกไปบิณฑบาตซึ่งก็จะต้องพายเอง เพราะเรืออีป๊าบนั่งได้แค่คนเดียว พระหัววัดในสมัยก่อนก็ต้องทำเองหมดทุกอย่าง ไม่ใช่ว่ามียศถาบรรดาศักดิ์แล้วจะมีความสุขความสบายอย่างเช่นในทุกวันนี้ พอฉันอาหารเสร็จก็ต้องนำบาตรไปล้างเช็ดถู ตากแดดให้แห้ง เวลาเขาใส่บาตรข้าวจะได้ไม่บูด สมเด็จฯโต ท่านจะทำทุกอย่างด้วยตัวของท่านเอง เมื่อเขาเห็นว่าท่านแก่แล้วจึงไม่อยากให้ท่านธุดงค์อีก ท่านจึงต้องอยู่ประจำวัดระฆังฯไม่ออกไปไหน ในช่วงแรกๆ ท่านก็ต้องสอนหนังสือให้กับลูกท่านหลานเธอซึ่งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่นำมาฝากฝังท่านก็ต้องอบรมสั่งสอนภิกษุสงฆ์องค์เณรที่เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน ซึ่งมีอยู่หลายองค์ด้วยกัน เช่น หลวงพ่อจันทร์ วัดนางหนู ลพบุรี หลวงพ่อคลาย วัดบัว ลพบุรี หลวงพ่อแดง วัดเขาบันใดอิฐ เพชรบุรี หลวงพ่ออี๋ สัตหีบ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ภาษาขอม บาลี สันสกฤต มคธ กับสมเด็จท่านเพราะในยุคนั้นเขาถือกันว่าสมเด็จโตท่านเป็นพระอาจารย์เป็นผู้ที่รอบรู้ทั้งทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน อภิธรรม บาลีต่างๆ ในช่วงหลังๆ สมเด็จโต ท่านก็ไม่ค่อยจะได้สอนหนังสือเอง เพราะมีอาจารย์ใหม่ขึ้นมาสอนแทนจึงทำให้ท่านมีเวลาว่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น ปฏิบัติกิจเป็นส่วนตัว เมื่อแก่ก็ไม่รู้จะทำอะไร ท่านจึงผูกใบลานเทศน์ ตากข้าวก้นบาตร นำดินสอพองมาปั้นชอล์กเขียนอักขระเลขยันต์ทำผงอิทธิเจ เก็บมวลสารต่างๆ มาบดทำพระเก็บดอกไม้บูชาพระต่างๆ มาทำอะไรเล่นๆ ในครั้งแรกท่านใช้หินลับมีดโกนมาทำแบบบล็อกพระ ทำเป็นรูปเหมือนของพระมหาสมณโคดมสร้างเป็นสมเด็จขึ้นมาโดยมิได้คิดอะไร เก็บสะสมเอาไว้ พอช่วงเข้าพรรษาก็ต้องหนักหน่อยเพราะต้องนำพระที่จัดสร้างขึ้นทั้งหมดเข้าโบสถ์ สวดมนต์ไหว้พระ ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ อันเชิญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อิติปิโส พาหุงฯ ธรรมจักร มงคลจักรวาลใหญ่ อยู่จนครบ 3 ไตรมาส ทำเสร็จแล้วท่านก็ไม่รู้จะแจกใคร พอมีใครผ่านไปผ่านมาท่านก็แจก ใครอยากได้มาก็มาขอกันไปคนละ 2 กระป๋อง 3 กระป๋อง นำไปแจกกันต่อๆ ไป พอชุดแรกแจกหมดไป สมเด็จท่านก็ทำใหม่อีก แต่ในครั้งหลังๆ ลูกศิษย์ลูกหาที่ทราบข่าวก็มาช่วยกันทำ
เมื่อลูกศิษย์มาช่วยทำก็สามารถสร้างพระสมเด็จได้เป็นจำนวนมากๆ สมเด็จฯท่านจึงนำไปบรรจุกรุไว้ตามเพดานโบสถ์หรือทำเจดีย์ขึ้นมาและฝังกรุของท่านไว้ใต้ฐาน เพื่อให้คนเข้ามาสักการะเจดีย์พระธาตุทั้งหลายจะได้มีความสุขความเจริญในชีวิตครอบครัว
ในบรรดาลูกท่านหลานเธอที่เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จฯ โต ช่วงสุดท้ายเห็นจะไม่มีใครเก่งเกิน รัชกาลที่ 5 ซึ่งเข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านในขณะที่มีพระชนพรรษาได้ 10-11 ขวบ เพื่อที่จะเข้ามาขอเรียนวิชาต่างๆ เช่น พุทธศาสตร์ พระไตรปิฎก เรียนการมีสติและทศพิธราชธรรมต่างๆ จนมีพระปรีชาสามารถมากที่สุดในบรรดาลูกท่านหลานเธอทั้งหลาย สอนอะไรก็รับได้ทั้งทางโลกและทางธรรม เรียนรู้ได้รวดเร็วมีปัญญาเป็นเลิศ
เมื่อว่างเว้นจากการสร้างพระแล้ว สมเด็จฯ โตก็จะนำพระธรรมจักกัปปวัตนสูตรมาผูกขึ้นเป็นพระคาถาชินบัญชรพร้อมกับนำบทสวดมนต์ต่างๆ มาแปลเป็นภาษาไทยเพื่อความเข้าใจง่าย เช่นการกราบไหว้บูชาพระ บทบูชาพระรัตนตรัย บทวิรัตศีลของพระศรีอริยเมตไตรยขึ้น
ในช่วงสุดท้ายของชีวิตท่าน ในเมื่อมีเวลาว่างมากท่านก็เลยปิดกุฏิไม่รับแขกทำสมาธิถอดจิตขึ้นข้างบน เพื่อที่จะเข้าเฝ้าองค์สมเด็จ ณ พระเกตุแก้วจุฬามณี สมเด็จโต จะอาพาธด้วยโรคอะไรไม่ปรากฏ มรณภาพเมื่อวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 (ต้น) ปีวอก จ.ศ. 1234 ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2415 เวลาประมาณ 24.00 น.เศษ บนศาลา ใหญ่วัดอินวรวิหาร บางขุนพรหม รวมชนมายุ 84 ปี 2 เดือน 5 วัน
หลวงปู่ศุข พระครูวิมลคุณากร
"เขาว่าหลวงพ่อเสกใบไม้เป็นต่อและเสกผ้าเช็ดหน้าเป็นกระต่ายได้และแสดงให้กรมหลวงชุมพรฯเห็นจนยอมเป็นศิษย์"
หลวงพ่อตอบว่า "ลวงโลก" แล้วท่านก็นิ่งไม่ตอบว่าอะไรอีก....
สัตถาเทวะ มะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ “มะอะอุ”
ธรรมสัจจะแห่งหลวงปู่ศุข
“เขาว่าหลวงพ่อเสกใบไม้เป็นต่อ และเสกผ้าเช็ดหน้าเป็นกระต่ายได้ และแสดงให้กรมหลวงชุมพรฯ เห็นจนยอมเป็นศิษย์”
หลวงพ่อตอบว่า “ลวงโลก” แล้วท่านก็นิ่งไม่ตอบว่าอะไรอีก
ประวัติหลวงปู่ศุข พระครูวิมลคุณากร
นามเดิม ศุข เกษเวช เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๐ ที่บ้านมะขามเฒ่า ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โยมบิดามารดาชื่อนายน่วม และนางทองดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลมะขามเฒ่า
มีบุตรและธิดา ด้วยกัน ๙ คน หลวงปู่ศุขเป็นบุตรชายคนโตสุด เมื่อหลวงปู่อายุประมาณ 10 ขวบ ลุงของท่านได้ขอไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม ที่ตำบลบางเขน จังหวัดพระนคร เมื่อหลวงปู่ฯ อยู่ในวัยฉกรรจ์ ท่านได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ทำมาหากินอยู่ในคลองบางเขนอยู่ระยะหนึ่ง จนอายุได้ ๑๘ ปี ได้ภรรยาชื่อ นางสมบูรณ์ และเกิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ สอน เกศเวชสุริยา หลวงปู่ท่านครองเพศฆราวาสอยู่ไม่นาน พออายุท่านครบ ๒๒ ปี ท่านได้ลาไปอุปสมบท ณ วัดโพธิ์บางเขน โดยมี พระครูเชย จนฺทสิริ วัดโพธิ์บางเขน เป็น พระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงพ่อเชยท่านยังเป็นอาจารย์ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระมีความรู้และความชำนาญรู้แจ้งแทงตลอด อีกทั้งทางด้านวิทยาคมก็แก่กล้าเป็นยิ่งนัก หลวงปู่ท่านได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้จากอุปัชฌาย์ของท่าน เมื่อได้อุปสมบทแล้วอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์หาที่สงบฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากสำนักที่มีชื่อเสี่ยงโด่งดังในสมัยนั้นจนชำนาญดีแล้ว จึงกราบลาอาจารย์กลับบ้านเกิดของท่าน เพื่อกลับมาดูแลมารดาในวัยชรา และได้อยู่จำพรรษาปีแรกๆ ที่วัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่โบราณที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองมะขามเฒ่า หรือบริเวณต้นแม่น้ำท่าจีนในปัจจุบัน แต่ทว่าสภาพของวัดอู่ทองขณะนั้นได้เกิดการชำรุดทรุดโทรมลงตามสภาพ เกินกว่าที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนมาสู่สภาพที่ดีได้ต่อไป ท่านจึงได้ขยับขยายออกมาที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้สร้างกุฏิขึ้นครั้งแรกหนึ่งหลังพอเป็นที่อยู่อาศัยไปพลางก่อน
หลวงปู่ท่านคือยอดเกจิอาจารย์ชื่อดังทางอิทธิปาฏิหาริย์ทรงคุณวิทยาทางไสยศาสตร์ มีวิชาอาคมเวทย์มนต์เก่งมาก สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย เสกก้านกล้วยให้เป็นงูได้ และเรื่องอภินิหารของขลัง คงกระพันชาตรี ท่านเป็นผู้สำเร็จธาตุทั้ง 4 คือ ปฐวี อาโป วาโย และเตโช อันได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ นอกจากนี้ท่านยังเชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์ สมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นผู้ที่มีพลังจิตอันน่ามหัศจรรย์อย่างยิ่ง จนเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ได้ยินกิติศักดิ์และได้ประจักษ์เห็นด้วยตัวของท่านเองจึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคมต่างๆจากหลวงปู่ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง หลวงปู่ศุขเป็นแพทย์แผนโบราณเชี่ยวชาญเรื่องยาสมุนไพรเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านสมัยก่อนเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาด้วยโรคอะไรก็ตามจะต้องมาหาหลวงปู่ศุขให้ท่านช่วยด้วยการให้ยาไปกินเพื่อรักษาอาการของโรคเหล่านั้น ผลปรากฏว่าจากยาสมุนไพรต่างๆ ที่หลวงปู่ศุขได้รับการถ่ายทอดมาจากตำราโบราณจากครูบาอาจารย์ที่เป็นแพทย์สมุนไพร แพทย์แผนโบราณมาอย่างดีนั้นสามารถช่วยเหลือผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยได้เป็นอย่างดี หลวงปู่ศุข ท่านมีเมตตามากจึงมีศิษย์เป็นอันมากที่มาเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิมลคุณากร และเป็นเจ้าคณะแขวง เป็นองค์แรกของอำเภอวัดสิงห์แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อใด อนึ่ง ท่านเป็นพระที่น่าเคารพนับถือ สำรวมในศีลเป็นอย่างดี ไม่ใคร่พูดจา นั่งสงบอารมณ์เฉยๆ ไม่ถามอะไร ท่านก็ไม่ตอบไม่พูด
ท่านมรณภาพเมื่อ เดือน ๑ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖ ไม่ปรากฏวันที่ที่แน่นอน คำนวณอายุได้ ๗๖ ปี วันสวดพระพุทธมนต์ทำศพอยู่ ๗ วัน ๗ คืน จึงประชุมเพลิง
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี)
ดอกไม้ที่หอมไม่ต้องเอานำหอมมาพรมก็หอมเองใครจะห้ามไม่ได้ ซากศพไม่ต้องเอาของเหม็นมาละเลงใส่ซากศพก็ต้องแสดงกลิ่นศพให้ปรากฏปิดกันไม่ได้...
คาถาหลวงพ่อสด
สัมมา อะระหัง
**********
ธรรมสัจจะแห่งหลวงพ่อสด
หยุดนั้นแหละเป็นตัวสมถะเป็นตัวสำเร็จ คือสำเร็จหมดทั้งทางโลกและทางธรรม โลกที่จะได้รับความสุขได้ ใจต้องหยุดตามส่วนของโลก ธรรมที่จะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของธรรม ดังบาลีว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ” สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี หยุดนั้นเองเป็นตัวสำคัญ หยุดคำเดียวเท่านั้นถูกทางสมถะตั้งแต่ต้นจนเป็นพระอรหันต์ เป็นตัวศาสนาแท้ๆ ถูกโอวาทของพระบรมศาสดา ถ้าไม่หยุดจะปฏิบัติศาสนาสัก 30-40 ปีก็ช่าง ที่สุดถึงจะมีอายุเป็นร้อยปีแต่ถ้าทำใจให้หยุดไม่ได้ เป็นไม่ถูกร่องรอยพระศาสนา
ประวัติหลวงพ่อสด
หลวงพ่อมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๒๗ ตรงกับแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ณ บ้านสองพี่น้อง ต. สองพี่น้อง อ. สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี ท่านเป็นบุตรของนายเงิน นางสุดใจ มีแก้วน้อย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน คือ นางดา เจริญเรือง สด มีแก้วน้อย (หลวงพ่อ) นายใส มีแก้วน้อย นายผูก มีแก้วน้อย และนายสำรวย มีแก้วน้อย หลวงพ่อเริ่มเรียนหนังสือกับพระภิกษุน้าชายที่วัดสองพี่น้อง ต่อจากนั้นได้มาศึกษาต่อที่วัดบางปลา อ. บางเลน จ. นครปฐม ในสมัยนั้นต้องศึกษาหนังสือขอม จนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัยซึ่งเขียนเป็นตัวอักษรขอมได้คล่องแคล่วจึงจะถือว่าจบหลักสูตร หลังจากศึกษาจบแล้ว หลวงพ่อได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าวจนบิดาถึงแก่กรรม ท่านจึงต้องรับหน้าที่ประกอบอาชีพค้าข้าวสืบต่อมา เมื่อหลวงพ่อมีอายุได้ ๑๙ ปี ท่านเกิดมีความคิดเบื่อหน่ายในทางโลกเพราะได้เห็นสภาพผู้คนทั่วไปที่ต้องเหน็ดเหนื่อยตรากตรำต่อการประกอบอาชีพหาเลี้ยง คนและครอบครัว หาได้เท่าไรก็ต้องนำมาบำรุงบำเรอร่างกายอันประกอบด้วยขันธ์ ๕ นี้ บางครอบครัวก็หาได้ไม่พอกินพอใช้ต้องอดอยากยากจน เป็นที่อับอายขายหน้าแก่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน เพราะไม่เทียมทันเขา ท่านรู้สึกว่าภาระเหล่านี้เสมือนโซ่ตรวนที่คอยฉุดดังเหนี่ยวรั้งมนุษย์ให้จมอยู่ในโลกียะ ท่านจึงคิดจะสละห่วงที่ร้อยรัดรึงมนุษย์ทุกคนอยู่นี้ โดยการออกบวชเพื่อแสวงหาสัจจธรรมตามรอยบาทพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพ่อท่านได้พิจารณาเห็นว่า
“การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบากบิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตาเข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายขายหน้าไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกันจนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้เหมือนกัน ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว ตัวเราก็จักตายเหมือนกันเราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้บวชดีกว่า”
ท่านจึงได้ตั้งสัจจอธิษฐานว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต”เมื่อมีความตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวว่าจะออกบวชเพื่อแสวงหาสัจจธรรมดังกล่าวแล้ว หลวงพ่อท่านจึงขะมักเขม้นประกอบอาชีพหนักยิ่งขึ้นอีกเพื่อสะสมทรัพย์ไว้ให้มารดาได้เลี้ยงชีพเพราะท่านเป็นบุตรชายคนโตเป็นผู้รับผิดชอบภาระในครอบครัวแทนบิดา เมื่อปราศจากท่านแล้วมารดาจะได้ไม่ลำบากนับว่าท่านเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทียิ่งนัก
หลวงพ่อได้อุปสมบทเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะมีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง อ. สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร. เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง อ. สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อยู่ ๑ พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้วท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม เมื่อกำลังเรียนอยู่นั้นท่านต้องพบกับความลำบากมาก สมัยนั้นเรียนกันตามกุฏิต้องเดินไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่างๆ เมื่อฉันแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัด เพลแล้วไปเรียนที่วัดมหาธาตุ ตอนเย็นไปเรียนที่วัดสุทัศน์บ้าง วัดสามปลื้มบ้าง กลางคืนเรียนที่วัดพระเชตุพนฯ แต่ไม่ได้ไปติดๆกันทุกวันมีเว้นบ้างสลับกันไป หลังจากที่หลวงพ่อได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนมีความรู้แตกฉานในภาษาบาลีและคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นอย่างดีแล้ว ท่านจึงหันมาศึกษาทางด้านวิปัสสนาธุระตามที่ได้ปฏิญาณไว้โดยพยายามสืบเสาะแสวงหาผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ แม้จะอยู่ห่างไกลในที่ต่างๆ ท่านก็ดั้นด้นไปพบไปศึกษากับอาจารย์เหล่านั้น หลังจากที่ได้ศึกษาด้านวิปัสสนากับอาจารย์ทั้งหมดเป็นเวลาพอสมควรแล้ว หลวงพ่อท่านจึงออกแสวงหาที่สงบสงัดที่มีความวิเวกเป็นสัปปายะต่อการค้นคว้าปฏิบัติธรรมต่อไป หลวงพ่อท่านมีภาษิตประจำใจว่า“เกิดมาว่าจะมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำจะเกิดมาทำอะไร อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หลอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย เลกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่านิพพานก็ได้”ขันธ์สามของหลวงพ่อหมายถึง ละขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์
ในพรรษาที่ ๑๑ หลวงพ่อจึงได้กราบลาเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เข้ม) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ เพื่อไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านได้เข้าไปบำเพ็ญกัมมัฏฐานแต่เวลาเย็นและได้ตั้งสัจจอธิษฐานว่า “ถ้ายังไม่เห็นธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงเห็นจะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต” และได้ตั้งจิตกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ขอให้พระองค์ทรงพระเมตตาโปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของพระองค์แล้วจักเกิดโทษแก่พระศาสนาก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต”
เมื่อตั้งสัจจอธิษฐานแล้วท่านก็เริ่มนั่งขัดสมาธิปฏิบัติกัมมัฏฐาน พอดีมีมดที่อยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่งอยู่นั้นกำลังไต่ไปมารบกวนสมาธิท่าน ท่านจึงหยิบขวดน้ำมันก๊าด เอานิ้วมือจุ่มเพื่อจะเขียนวงให้รอบตัวกันไม่ให้มดเข้ามารบกวน แต่แล้วก็เกิดความคิดว่าชีวิตของเราๆ ได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียรแต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีกจึงวางขวดน้ำมันแล้วเจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรคหรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานคือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นเอง เมื่อได้เห็นธรรมะแล้ว ท่านจึงเข้าใจแจ่มแจ้งว่าพระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนักยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึกรู้นึกรู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ ดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริงๆอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้แล้วเป็นไม่เห็นเด็ดขาด ในระหว่างปฏิบัตินี้ท่านได้เห็นวัดบางปลา (ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ. บางเลน จ.นครปฐม) ปรากฏขึ้นเป็นนิมิตซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อเคยไปเรียนหนังสือ ทำให้คิดว่าที่วัดบางปลานี้อาจมีผู้สามารถบรรลุธรรมดังที่ท่านเห็นอยู่นั้นบ้างก็ได้ นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาหลวงพ่อก็ยิ่งปฏิบัติกิจภาวนาค้นคว้าหาที่สุดแห่งธรรม ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งพบสิ่งที่ลึกซึ้งหนักเข้าทุกที หลังจากออกพรรษาแล้วหลวงพ่อจึงไปพักที่วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมเพื่อไปสอนธรรมะ มีพระภิกษุที่ได้ธรรมะจากท่าน ๓ รูปกับฆราวาสอีก ๔ คน หลังจากกลับจากวัดบางปลาแล้ว หลวงพ่อได้มาจำพรรษาที่วัดพระเชตุพนฯ ต่อจากนั้นได้ไปอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรีอีกระยะหนึ่งแล้วกลับมาอยู่ที่วัดสองพี่น้องอีก สมเด็จพระวันรัต (ติสสทัตตมหาเถร) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรีในยุคนั้น เห็นว่าวัดปากน้ำซึ่งเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรีสามัญอันเป็นวัดหนึ่งในการปกครองของท่านว่างเจ้าอาวาสลง จึงได้แต่งตั้งหลวงพ่อมาเป็นเจ้าอาวาส หลังจากที่หลวงพ่อเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสก็ได้พัฒนาวัด พร้อมทั้งพัฒนาคนให้เป็นคนดีทั้งภายนอกและภายใน และเผยแพร่วิชาธรรมกายที่ได้ค้นพบมาให้กับลูกศิษย์มากมาย
นับตั้งแต่หลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระหนักโดยตลอด ทั้งด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม การสอนและเผยแพร่วิชาธรรมกาย การจัดตั้งโรงครัว การบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ งานที่หนักมากที่สุดของหลวงพ่อคือการสอนและเผยแพร่ธรรม รวมทั้งการช่วยเหลือผู้คนที่มาขอพึ่งบารมีของท่านเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนต่างๆ ท่านมีเวลาพักผ่อนน้อยมากทำให้สุขภาพทรุดโทรม ท่านเริ่มอาพาธเป็นความดันโลหิตสูง เมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ลูกศิษย์ได้หาหมอที่มีความสามารถมารักษาท่านแต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้นมีแต่ทรงกับทรุด หลวงพ่ออาพาธได้ปีเศษ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีราชทินนามว่า “พระมงคลเทพมุนี” หลวงพ่อท่านเคยพูดถึงอาการอาพาธของท่านว่า “เจ็บคราวนี้ไม่หาย ไม่มียารักษา เพราะยาที่ฉันอยู่นั้นมันไม่ถึงโรค” ท่านเปรียบว่ายาที่ท่านฉันเหมือนมีแผ่นหินมารองรับกั้นไว้ ไม่ให้ยาซึมไปกำจัดโรคได้ กรรมมันบังเป็นเรื่องแก้ไม่ได้ เมื่อหลวงพ่ออาพาธหนัก ท่านได้เรียกหลวงพ่อเล็กไปสั่งให้ดำเนินการสอนเผยแพร่วิชาธรรมกายและแจกพระของขวัญต่อไปเหมือนดังที่ท่านเคยปฏิบัติ และยังสั่งเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ เมื่อท่านมรณภาพลงแล้ว ให้เก็บศพของท่านไว้ไม่ต้องเผา
หลวงพ่อได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบอย่างภูมินักปฏิบัติ เวลา ๑๕.๐๕ น. ของวันที่ ๓ ก.พ. ๒๕๐๒ สิริรวมอายุ ๗๔ ปี ๓ เดือน ๒๔ วัน บวชอยู่ ๕๓ พรรษา แม้หลวงพ่อจะมรณภาพเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ศิษยานุศิษย์ของท่านก็ยังสวดพระอภิธรรมให้ท่านทุกวันมิได้ขาด วันหนึ่งๆ มีผู้มาขอเป็นเจ้าภาพสวดหลายราย โดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ จะมีการสวดพระอภิธรรมกันตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ
พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์
ไม่มีใครไม่มีมาร แต่มารมันเกิดแล้วมันก็ดับ...
ธรรมสัจจะแห่งพ่อท่านคล้าย
ไม่มีใครไม่มีมาร แต่มารมันเกิดแล้วมันก็ดับ
ไม่มีมารใดถาวร ตายหมด
มีมารก็ตาย ไม่มีมารก็ตาย
แต่ว่ามารมันไม่ได้ขึ้นบนที่สูง
เวลาตาย เวลาเราจะทำดีมารมาขวางเวลาเราตายไป มันไม่ได้ขึ้นสูงเหมือนเรา มันเป็นมารกรรมเก่า มารภพภูมิ มันอยู่ที่จะตามเราทันตอนไหน เป็นมนุษย์ต้องหูหนัก อย่าหูเบา ถ้าหูเบาเราก็เป็นมารตามมัน พระพุทธเจ้ายังมีมาร แล้วสูเป็นใคร ไม่มีใครที่ไม่มีมาร และไม่มีใครไม่พบทุกข์ หลักธรรมดา ที่จริงหลักธรรมะคือหลักธรรมดา แต่ว่าเราเข้าใจธรรมดาไหม ถ้าเราเข้าใจธรรมดา แสดงว่าเข้าใจธรรมะก็ธรรมะมันเกิดจากสิ่งที่มันเกิดอยู่แล้ว
ประวัติ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์
ช่วงเวลาแห่งฆราวาส
พ่อท่านคล้ายหรือท่านพระครูพิศิษฐ์อรรถการนามเดิม “คล้าย สีนิล” เกิดเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๑๙ ณ บ้านโคกกระทือ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช (บางตำราเขียนไว้ว่า พ่อท่านเกิดวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗ ซึ่งถ้านับตามปีที่พ่อท่านคล้ายเกิดจนกระทั่งมรณภาพก็จะครบ ๙๖ ปีพอดี หย่อนอยู่ไม่กี่เดือน)
พ่อท่านคล้ายเป็นบุตรของนายอินทร์ กับนางเหนี่ยว สีนิล มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อเพ็ง สีนิล จนกระทั่งท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ พอจะเรียนอักษรสมัยตามประเพณีในสมัยนั้น ท่านก็ได้เริ่มเรียนหนังสือโดยบิดาของท่านเป็นครูสอนเองที่บ้าน ต่อมาเมื่ออายุประมาณ ๑๓ ขวบ บิดาของท่านก็ได้นำไปฝากให้เรียนวิชาเลขในสำนักของนายขำ ไม่ทราบนามสกุล อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งปอน (จันดี) บ้านโคกกระทือ ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ พ่อท่านคล้ายมีอายุ ๑๔ ย่าง ๑๕ ปี ก็ได้ไปอาศัยอยู่กับพี่สาวและพี่เขย ที่ตำบลมะม่วงเอน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในช่วงเวลานั้นเองก็เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของท่าน โดยมีผู้เล่าสืบๆกันมาว่า วันหนึ่งท่านได้ไปกับพี่เขย คือนายซ้าย เพ็ชรฤทธิ์ เพื่อโค่นไร่ (ถางป่าทำไร่) โดยพี่เขยโค่นไม้บุกหยวกซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง พ่อท่านคล้ายนั่งอยู่บนขอนไม้ที่โค่นลงแล้ว ถูกไม้ที่พี่เขยกำลังโค่นหักลงมาถูกที่หลังเท้าข้างซ้ายของท่านแตกละเอียด มีอาการเจ็บปวดมาก แม้จะใช้ยาพอกก็ไม่หาย โดยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว พ่อท่านคล้ายใช้มีดที่ลับคมดีแล้วตัดปลายเท้าออกเหลือแค่ข้อเท้า โดยมือของท่านเอง ใช้ยาพอกไม่นานก็หาย เมื่อแผลหายเป็นปกติแล้ว พ่อท่านคล้ายได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดวังม่วง ตำบลฉวาง อำเภอฉวาง โดยมีอาจารย์ทอง ปทุมสุวณฺโน เจ้าอาวาสวัดวังม่วง เป็นอาจารย์ฝึกสอนให้เรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและวิชาเลข จนมีความชำนาญขึ้นกว่าเดิมแต่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์ให้บรรพชา พ่อท่านคล้ายบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ได้ ๒ พรรษาแล้วได้ลาสิกขาออกไปอยู่บ้านช่วยบิดามารดาประกอบกิจการงานต่อไป เมื่อครั้งที่พ่อท่านคล้ายยังเป็นฆราวาสอยู่ก็ได้ไปฝากตัวอยู่กับนายทองสาก อาจารย์หนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น พ่อท่านหัดหนังตะลุงอยู่หลายปีจนเป็นที่นิยมของคนหมู่มาก พ่อท่านคล้ายเป็นผู้มีเสียงไพเราะ มีรูปสวยแม้เท้าจะด้วน ความติดพันแห่งเพศตรงกันข้ามก็มีโดยมิต้องสงสัย ทราบว่ามีหลายคนเสียด้วย ซึ่งโยมบิดามารดาของท่านขอร้องแกมบังคับให้ท่านบวชและท่านก็ตกลงใจตามคำขอร้อง
ช่วงเวลาแห่งการเข้าสู่ร่มกาสวะพักตร์
ในวันศุกร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา พ่อท่านคล้ายได้อุปสมบท ณ อุทกุกเขปสีมา (ศาลาน้ำ) วัดวังม่วง หมู่ที่ ๒ ตำบลฉวาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีท่านพระครูกราย คงฺคสุวฺณโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เจ้าคณะแขวงฉวาง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาในวันอุปสมบทว่า “จนฺทสุวณฺโณ”
หลังจากที่พ่อท่านคล้ายอุปสมบทแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานจนแตกฉาน จนในปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน พ่อท่านคล้ายได้รับความเคารพศรัทธาในปฏิปทา จริยวัตรปาฏิหาริย์ของทุกชนชั้น ตั้งแต่สามัญจนถึงพระมหากษัตริย์และเป็นมิ่งขวัญของศิษยานุศิษย์และศาสนิกชนทั่วไป พ่อท่านคล้ายเป็นพระอรหันต์ยุคกึ่งพุทธกาลแห่งแดนใต้ มีสัจจะวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ปากพระร่วง เมื่อได้กล่าวสิ่งใดออกไปแล้วจะเป็นไปตามนั้นทุกประการซึ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับท่านล้วนศักดิ์สิทธิ์และเกิดปาฏิหาริย์ให้ผู้คนได้ประจักษ์มาแล้วทั้งสิ้น
พ่อท่านคล้ายเป็นนักบำเพ็ญประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง เหมือนว่าจะไม่มีถนนสายไหน โรงเรียนหลังไหน สะพานใดและวัดใด ในเขตอำเภอฉวาง ตลอดถึงต่างอำเภอ ต่างจังหวัดและต่างประเทศ ที่พ่อท่านคล้ายจะไม่จาริกไปช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ให้อย่างทั่วถึงแม้จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต งานที่ท่านบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ก็ยังมีอยู่อีกมากและรอการสานต่อจากพุทธศาสนิกชนที่เคารพและศรัทธาในตัวท่านเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ผู้มี “วาจาสิทธิ์” สืบไป
อวสานแห่งชีวิต
พ่อท่านคล้ายได้บำเพ็ญประโยชน์มาเป็นเวลานาน ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๓ พ่อท่านคล้ายเกิดอาพาธกะทันหัน จึงได้นำตัวของท่านไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หมอได้พยายามรักษาจนเต็มความสามารถเป็นเวลา ๑๔ วัน อาการมีแต่โทรมกับทรุด ครั้นถึงวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ เวลา ๒๓.๐๕ นาฬิกา พ่อท่านคล้ายได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ พร้อมหน้าหมอและศิษยานุศิษย์ที่อยู่พร้อมหน้ากัน ณ ที่นั้น ศิริชนมายุพ่อท่านคล้ายได้ ๘ รอบ ซึ่งหย่อนอยู่ไม่กี่พรรษาก็จะครบ ๙๖ ปีบริบูรณ์ พ่อท่านคล้ายได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมา ๗๔ พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขันได้ ๖๕ ปี
อนึ่งในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ อันครบกำหนดสัตมวาร (๗ วัน) นับแต่วันมรณภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ต.ต. ชุมพล โลหะชาละ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางนำผ้าไตรหลวงจำนวน ๒๕ ไตร มาบำเพ็ญกุศลสัตมวารอุทิศถวายพ่อท่านคล้ายเป็นการบำเพ็ญราชานุเคราะห์ส่วนพระองค์
สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ซึ่งต่อมาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช) ทรงประทานพระโอวาทแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ของพ่อท่านคล้าย มีใจความตอนหนึ่งว่า
“ตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยามาจนถึงบัดนี้ ยังไม่เคยมีสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ หรือพระราชาคณะองค์ใดได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าไตรถึง ๒๕ ไตรเลย เคยมีสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งได้รับ ๒๔ ไตรแต่พ่อท่านคล้ายนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษพระราชทานถึง ๒๕ ไตร”
ปัจจุบันนี้ศพพ่อท่านคล้ายได้บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์น้อย ยังไม่ได้มีผู้ใดริเริ่มการขอพระราชทานเพลิงศพ
ปัจจุบันนี้ยังคงมีประชาชนหลั่งไหลมาสักการะศพของพ่อท่านคล้ายอยู่ไม่ได้ขาด
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
"ภาษาธรรมนั้น ก็คือภาษาใจ อยู่ที่ไหนก็รู้กันได้ มนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกุตรธรรม"
ธรรมสัจจะหลวงปู่บุดดา
"คนเราจะเป็นสุขเมื่อรู้จักพอดี ไม่มีใครได้อะไรตลอดไป หรือเสียอะไรตลอดไป ไม่มีใครหรือสิ่งไหนคงอยู่ตลอดไปโดยไม่สูญสิ้น ขอเพียงแค่รู้จักพอดีทุกคนจะเป็นสุข"
ประวัติหลวงปู่บุดดา
หลวงปู่บุดดาเกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่ตำบลพุคา อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี บิดาของท่านชื่อ น้อย มงคลทอง มารดาของท่านชื่อ อึ่ง มงคลทอง มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน ท่านได้อุปสมบทเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๖๕ ที่วัดเนินยาว ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
เมื่อหลวงปู่อุปสมบทแล้ว ท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดเนินขาว จังหวัดลพบุรี ปฏิบัติอุปัชฌาย์ตามแบบแผนของภิกษุสมัยนั้น ไม่มีการศึกษาเล่าเรียนทั้งทางปริยัติหรือปฏิบัติ คงทำวัตรท่องหนังสือสวดมนต์และปาฏิโมกข์ แต่ท่านอ้างเสมอว่าอุปัชฌาย์ทุกองค์ท่านสอน ปัญจกรรมฐานให้แล้วในวันอุปสมบท นั่นก็คือ อุปัชฌาย์ท่านสอนให้ว่า เกศา – ผม โลมา – ขน นักขา – เล็บ ทันตา – ฟัน และ ตโจ – หนัง และทวนกลับ ว่าให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ในร่างกายของตนและคนอื่น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นบ่อเกิดของทุกข์ทั้งกายและจิตใจ เป็นของหาที่ยึดถือเป็นตัวตนไม่ได้มานานแล้วทุกคน หลวงปู่ท่านออกจาริกแสวงหาสถานที่วิเวกเจริญสมรธรรมตามอัธยาศัยองค์เดียวโดยไม่มีกลดมีมุ้งแบบอุทิศชีวิต หลวงปู่พูดเสมอว่าภาษาธรรมนั้น ก็คือภาษาใจ อยู่ที่ไหนก็รู้กันได้ มนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกุตรธรรม
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พอใกล้เข้าพรรษา ท่านได้ไปจำพรรษา ณ วัดป่าหนองคู จ.นครสวรรค์ และพอออกพรรษาก็กลับมาร่วมปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำภูคา จ.นครสวรรค์ โดยเร่งความเพียรเจริญสมณธรรม อย่างเต็มที่เกือบจะไม่ได้พักผ่อน และในคืนวันหนึ่งเวลาประมาณระหว่าง ๒๐.๐๐ น. ถึง ๒๓.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาสนทนาธรรมของท่านและหลวงพ่อสงฆ์
หลวงพ่อสงฆ์ได้ถามหลวงปู่บุดดาว่า “ยังถือวินัยอยู่หรือ”
หลวงปู่ตอบว่า “ไม่ถือวินัยได้ไง ถ้าเราจะเดินผ่านต้นไม้ ของเขียวก็ต้องระวังมันจึงเป็นอุปาทานทำความเนิ่นนานต้องช้ามาถึง ๔ พรรษา”
หลวงพ่อสงฆ์ว่า “วินัยมันมีสัตว์ มีคนรึ” หลวงปู่บุดดาว่า “มีตัวซี ถ้าไม่มีตัวจะถือวินัยได้ยังไง วินัยก็ผู้ถือนั่นเอง เสขิยวัตร ๗๕ เป็นตัวไม่ได้หรอก เนื้อหนัง กระดูก ตับไต ไสพุง มันไม่ใช่ตัวถือวินัย ตัวถือวินัยเป็นธรรมนี่”
เถียงกันไป เถียงกันมาชั่วระยะหนึ่ง พอปัญญาบารมีเกิดขึ้นตกลงกันได้ว่า
“เอ๊ะ ! ไม่มีจริง ๆ เน้อ ...ผู้ถือไม่มี มีแต่ระเบียบของธรรมเท่านั้น ไปถือมั่นยึดมั่นไม่ได้นี่”
พอหยุดความลง ทันใดนั้นเองหลวงพ่อสงฆ์เพ่งมองดูเห็นหลวงปู่บุดดา จู่ ๆ ก็นิ่งเงียบนัยน์ตาลืมค้างอยู่ ไม่กระพริบตา เบิกตาโพลงอยู่อย่างนั้น เนิ่นนานอยู่ประมาณสองชั่วโมงกว่าถึงกลับมาพูดได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลวงปู่บุดดาได้ใช้ปัญญาตัดกิเลสได้แล้วในขณะที่นั่งลืมตา ซึ่งหลวงปู่บอกว่าถ้าเกิดปัญญาขึ้นในอิริยาบถทั้ง ๔ ซึ่งขณะนั้นถ้าลืมตาตัดก็ต้องลืมตาตัด ถ้านั่งตัดก็ต้องนั่งตัด ถ้ายืนตัด เดินตัดหรือนอนตัดก็ต้องยืนตัด เดินตัด หรือนอนตัด ขึ้นอยู่ว่าใครจะตัดกิเลสได้ขณะไหน อย่างพระอานนท์ตัดได้ตอนเอนกายขณะกำลังจะนอนนั่นเองสำหรับหลวงปู่บุดดา ขณะมีอายุได้ ๓๒ ปี-พรรษาที่ ๔ ซึ่งถ้ายังใช้กรรมไม่หมดก็ไม่ถึง โลกกุตระ แต่พอใช้หนี้กรรมหมดแล้วก็เป็นอโหสิกรรม ขณะนั่งลืมตาอยู่ก็บรรลุธรรมได้
หลวงปู่บุดดาบอกว่า “ขณะนั้นอวิชาดับหมด รู้สึกสว่างแจ้งขึ้นมาเอง ความไม่มีตัวตนเห็นได้ชัดเจนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัว เป็นปรมัตถธรรม ธรรมทุกอย่างเป็นธรรมชาติส่วนกลาง คงอยู่ในจิตของตนเอง กิเลสหลุดไปเอง แต่ชีวิตยังคงอยู่มีความเป็นปกติทุกอย่าง ทั้งกายสังขาร-จิตสังขารก็หยุด รูปก็หยุดหมด ไม่มีสัตว์เกิดสัตว์ตาย กิเลสไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ขันธ์ของกิเลสก็ไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สุดชาติของอาสวะของสังโยชน์ ๑๐ อนุสัย ๗ ออกวันเดียวกันและเวลาเดียวกันนั่นแหละ...”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลวงปู่บุดดาและหลวงพ่อสงฆ์ได้สร้าง “พระพุทธเกษแก้วจุฬามณี” ประจำยอดภูเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เพื่อเป็นสถานที่ระลึกถึงเมื่อครั้งท่านทั้งสองได้อาศัยบำเพ็ญเพียรจนบรรลุถึงอริยสัจธรรม หลวงปู่บุดดาได้เที่ยวจาริกและโปรดญาติโยมและศิษยานุศิษย์จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
หลวงปู่บุดดาได้มรณภาพเมื่อเช้าของวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เวลา ๑๙.๓๐ น. สิริรวมอายุ ๑๐๑ ปี ๗ วัน ๗๓ พรรษา
หลวงปู่คำสี (ทองทิพย์) รัตนโคตร
"บุคคลผู้ที่ดังหรือดังไม่ดี เขาที่ดังไม่ดีไม่เอาแล้ว ขอที่ดีไม่ดัง ถึงไม่ดังก็ตามสักวันหนึ่งก็อาจจะดัง ดังเป็นการดี"
ธรรมสัจจะหลวงพ่อทองทิพย์
บุคคลผู้ที่ดัง หรือดังไม่ดี เขาที่ดังไม่ดีไม่เอาแล้ว ขอที่ดีไม่ดัง
ถึงไม่ดังก็ตามสักวันหนึ่งก็อาจจะดัง ดังเป็นการดี ดีด้วยตนหรือดีกับบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น สัตว์จำพวกนั้นๆ จะได้รับความสุขพ้นทุกข์ไปเช่นเราผู้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามที่จะทำความดี จะใช้ด้วยความเพียรหรือขันติธรรมจะนำให้เกิดประโยชน์ ก็ขอให้ท่านผู้เป็นเนื้อนาบุญ นักบุญหรือบุคคลผู้มีจิตประสงค์ในมรรคผลหรือประสงค์อยู่ในบุญตั้งมั่นหมั่นทำความดี บุญศัพท์นี้แหละเป็นใหญ่ บุญจะทำให้ความสุขของผู้ประพฤติปฏิบัติได้เป็นบุญแท้จริง บุญเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ ชนะเลิศ เป็นอัศจรรย์อย่างไรหรือชนะเลิศอย่างไร ก็เมื่อไรที่เราถึงผล เราก็จะรู้ได้ในผลบุญนั้น เพราะฉะนั้นก็พวกเราผู้อยู่ในพุทธศาสนา ผู้มีธรรมะ ผู้ยึดมั่นถือมั่นพระรัตนตรัยยึดเอาพระภูวนัยไตรโลกนาถศาสดาจารย์พระองค์นั้นมาเป็นที่พึ่งพาอาศัย คือศรีศากยมุณีโคดมบรมครู ตลอดพระธรรมเป็นตัวแทนของพระองค์เป็นคำสอนของพระองค์แท้จริง ไม่ใช่เป็นคำสอนของใคร ขอคำสอนของพระองค์ที่เป็นคำสอนจริงนั้นที่จะล่วงเข้ามาอยู่ในกายจิตใจของผู้ถึงพระธรรม ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นผู้เลิศเทอญ
ประวัติหลวงพ่อทองทิพย์
ถ้าจะถามว่าประวัติของหลวงพ่อทองทิพย์นั้นมีความเป็นมาอย่างไร คงจะตอบได้เลยว่ามันเป็นเรื่องที่เลยรู้ เลยตายเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อก็ว่าได้
ท่านเป็นพระป่าที่ไม่ได้เข้ามายุ่งในเมืองหลวงเท่าใดนักอยู่สันโดษปรมัตถ์ ถือเดี่ยวอยู่ในป่า แต่เท่าที่ทราบสอบถามได้จากพยานบุคคลที่อยู่รับใช้ใกล้ชิดท่านมาโดยตลอดก็ประมาณสามชั่วอายุคนโยมอุปถากในยุคต้นๆ ที่ละสังขารแตกดับตายไปแล้วก็จะมีเจดีย์บรรจุศพที่หลวงพ่อทองทิพย์สร้างให้กลายเป็นถาวรวัตถุและพยานบุคคลอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะคำเล่าขานว่าหลวงพ่อทองทิพย์อยู่อย่างไรก็อยู่เหมือนเดิมอย่างนั้นมาโดยตลอด ไม่แก่ลงไปจากเดิมมากน้อยสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเนื้อหนังมังสาของท่าน ยังดูสดใสไม่ได้แก่วัยไปตามอายุขัยหลายร้อยปีแต่อย่างใด โดยเฉพาะดวงตาของท่านก็ยังสดใส มิได้ฟ่ามัวเหมือนกับคนเฒ่าคนแก่หรือผู้สูงวัยแต่อย่างใด สามารถที่จะใช้สายตาเชื่อมประสานความทรงจำนำเรื่องแปลกพิสดารมาเล่าให้เราฟังจนเป็นที่เข้าอกเข้าใจในพันธะของการจุติเกิดหลวงพ่อท่านชอบที่จะเล่าเรื่องราวของอดีตที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของท่านให้เราได้รับฟังอยู่เป็นประจำ
ท่านสามารถรู้ประวัติการเกิดของมนุษย์ได้ว่าคนนั้นไปเกิดที่ใด คนนี้ไปเกิดที่ใด ตามวาระกาละเวลาของผู้ที่มาเกิดที่เป็นบุคคลสำคัญก็ดี ที่เคยช่วยชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ก็ดี ท่านจะรู้ประวัติ วัน ปี เดือนครบถ้วนเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ถ้าใครก็ตามได้ไปพูดไปคุยกับหลวงพ่อทองทิพย์ จะรู้สึกว่ามีจิตใจที่ใสสะอาด สว่าง สงบ เย็นกาย เย็นใจ เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นพระที่สมควรกราบไหว้บูชาสักการะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ เพราะท่านจะสอนให้มวลมนุษย์ชาติสร้างแต่กรรมดี รู้จักบุญกุศลไม่มักมากในกิเลส ถ้าผู้ใดใฝ่ฝันที่จะถึงการหลุดพ้น ท่านก็จะบอก ว่า "ข้ามไฟสามกอง ยิงนกหกตัวก็จบ"
ไฟสามกองคืออะไร ก็คือไฟโกรธ ไฟโลภ ไฟหลง ก็คือโมหะ โทสะ โลภะนั่นเอง หยุดโกรธซะบ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่หมดให้มันเบาบางลงไป ส่วนความโลภนั้น ถ้ามีสัมมาอาชีพ ทำมาหากินอย่างสุจริต ก็ไม่ถือว่าโลภ ที่ทุกคนจะต้องหากินหาอยู่ตามอัฐภาพ ความหลง ก็อย่าไปหลงอุปกิเลสให้มากมายใฝ่ฝันยศถาบรรดาศักดิ์ มีลาภย่อมเสื่อมลาภ มียศย่อมเสื่อมยศ ไม่สมควรรู้ ลาภ ยศ สรรเสริญ รู้จักพอ รู้จักหยุด ใฝ่ในคุณธรรม สร้างประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน รู้จักเป็นผู้ให้เป็นผู้รัก รักผู้อื่นเท่ากับรักตัวเรา
ยิงนกหกตัวคืออะไร ท่านก็สาธยายว่า ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นแหละยิงนกหกตัว ยิงให้มันตาย ตายจากอะไรล่ะ ตายจากกิเลสนั้นเอง
ท่านเคยเล่าว่า ท่านเคยมาสร้างธาตุพนม เคยไปสร้างที่เวียงจันทน์ นอกจากนั้นแล้วท่านยังเคยไปสร้างขั้นราวบันไดที่เชียงใหม่ให้กับตุ๊เจ้าเสือดาว แล้วท่านยังชอบที่จะเล่าถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีตอยู่เป็นประจำ ท่านเล่าว่าพระเจ้าไชยเชษฐาเคยไปสร้างเมืองเชียงรายและนครเชียงใหม่ก่อนที่จะถอยล่นลงมาเรื่อยๆจนถึงนครเชียงรุ้งหรือเวียงจันทน์ในปัจจุบันนี้ เพราะสภาวะของสงครามบีบบังคับให้พระเจ้าไชยเชษฐาต้องถอยล่นลงไปเรื่อยๆ จนในครั้งสุดท้าย พระเจ้าไชยเชษฐาท่านทราบล่วงหน้าว่า ท่านจะต้องพ่ายแพ้สงครามแน่ๆ ท่านจึงนำพระแก้วมรกตหลบหนีจากนครเชียงใหม่เพื่อที่จะนำไปประดิษฐาน ณ นครเวียงจันทน์
ดูๆ ไปแล้ว หลวงปู่คำสี (ทองทิพย์) รัตนโคตรท่านคงจะมีอดีตที่ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช และพระแก้วมรกตเป็นอย่างมาก เพราะท่านสามารถที่จะทราบประวัติทั้งหมด แม้กระทั่งตำนานในครั้งอดีตซึ่งมิได้ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หลวงพ่อก็สามารถที่จะทราบได้และหลวงพ่อทองทิพย์เคยเล่าให้ฟังเมื่อ พ.ศ. 2535 ว่าในอดีตชาติท่านเคยเกิดเป็นกวางทอง บางชาติท่านก็เคยเกิดเป็นกระบองเพชร เพื่อออกไปทำงานให้กับยักษ์ มีครั้งหนึ่งที่ท่านทำงานไม่สำเร็จจึงถูกยักษ์สาปเอาไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ถึง 7 ปี ไปไหนไม่ได้ ก่อนตายท่านได้บุคคลาอธิษฐานเสี่ยงบารมีถึงพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ก่อนที่จะแตกดับธาตุขันธ์
มาในปัจจุบันชาตินี้ หลวงพ่อทองทิพย์จึงต้องมาสร้างแต่มหากุศลตลอดชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างพระพุทธที่จะมาสำเร็จในอนาคต ซึ่งมีพระนามว่า “พระศรีอริยเมตตรัย” ขนาด 5 นิ้วขึ้นจำนวนถึง 5,000 องค์ แล้วยังสร้างพระศรีอริยเมตตรัย 100,000 องค์บรรจุเอาไว้ในเจดีย์ของท่านและตามสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อที่จะให้เกิดบุญบารมียิ่งๆ ความปรารถนาอันสูงสุดในชีวิตของท่านที่ท่านอยากจะสร้างมากที่สุดก็คือการสร้างหัวใจพระศรีทองคำ แล้วนำไปบรรจุเอาไว้ในพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ให้สำเร็จให้จงได้ เพราะถ้าท่านสามารถที่จะสร้างหัวใจพระศรีทองคำให้สำเร็จได้ก็จะทำให้ “สายณะธรรม” ที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันธ์กับพระโพธิสัตว์ซึ่งเปรียบเสมือนหนึ่งเรามีดวงจิตที่สามารถล่องลอยไปในสถานที่ต่างๆ ได้ตามที่เราได้อธิษฐานเอาไว้ สิ่งที่เป็นอุปกิเลสของแต่ละบุคคลก็จะลุล่วงไปตามเจตนาของบุคคลนั้นๆ ความเบาสบายก็จะบังเกิดกับพวกเราที่ได้ร่วมสร้างหัวใจพระศรีทองคำจะได้สืบสายณะระหว่างสมเด็จพระพุทธมหาสมณะโคดมกับพระศรีอริยเมตตรัยเพื่อให้พระศาสนาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันหรือเชื่อมชิดติดกัน
หากใครเคยไปวัดป่าศรีดารามลักษณ์รัตนโคตรจะเห็นเจดีย์โพธิ์อยู่ภายในวัดของหลวงพ่อซึ่งเหตุผลที่ท่านได้สร้างเจดีย์โพธิ์ไว้ท่านได้เล่าให้ฟังว่า บุร่ำโบราณนานมาแล้ว สถานที่แห่งนี้เมื่อเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับเทวาลัยถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับฌานบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ แล้วยังรวมความไปถึง เทพ-พรหม อริยเทพ อริยพรหม และเหล่าอริยสงฆ์ทั้งหลาย เมื่อท่านได้เสด็จผ่านมาในแถบนี้จะด้วยกายทิพย์ก็ดีกายธาตุก็ดี ท่านจะต้องมาแวะพัก ณ สถานที่แห่งนี้เสมอ เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นทางผ่านก่อนที่จะข้ามต่อไปยังเวียงจันทน์หรือบางครั้งพระอริยสงฆ์จากฝั่งลาวเมื่อข้ามมาแล้วก็จะมาแวะตั้งหลักพักผ่อน ณ สถานที่แห่งนี้ก่อนจะเดินทางต่อไปยังสถานที่อื่นๆ ต่อๆไป
ช่วงวันเพ็ญกลางเดือน 3 ของทุกๆ ปี ซึ่งถือกันว่าเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนาซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประกาศ “วันปรินิพพาน” ของท่านจึงถือว่า วันนี้เป็นวันสำคัญ สำหรับชาวพุทธที่ได้ถวายตัวเป็นพุทธบุตรของพระพุทธเจ้าเข้าสู่การฝึกฝนปฏิบัติตั้งมั่นอยู่ในกรอบระเบียบของศีล สมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญาฌาน เพราะเหตุฉะนี้เอง หลวงพ่อทองทิพย์ท่านจึงได้นำเอาวันเพ็ญกลางเดือน 3 ของทุกๆ ปี มาเป็นวันสำคัญของท่านด้วย ซึ่งหลวงพ่อถือว่าเป็นวันสำคัญของ “นักสัตย์” ต่างๆ ที่จะได้เป็นอิสระจากการถูกคุมขัง วันนี้จึงกลายเป็นประเพณีในการปล่อยสัตว์ทุกๆ ชนิด เท่าที่จะหามาได้ให้เป็นอิสระ สัตว์น้ำก็จะถูกปล่อยลงสู่ลำน้ำโขงส่วนพวกช้าง ม้า วัว ควาย หลวงพ่อก็จะมอบให้กับชาวนาผู้ยากไร้ นำไปเลี้ยงเพื่อใช้งานเท่านั้น ห้ามนำไปฆ่าอย่างเด็ดขาด เพื่อให้สรรพสัตว์เหล่านี้รอดพ้นไปจากความตาย
เมื่อมีคนสงสัยถามเรื่องพระศรีอริยเมตตรัยเป็นใครท่านก็มักจะตอบว่า “พระศรีเป็นใครนะหรือ ไอ้ที่เหาะมาได้ก็มิใช่พระศรี ไอ้ที่บินมาได้ก็มิใช่พระศรี ไอ้ที่ขี่ม้ากาบกล้วยแล้วเหาะได้ก็ไม่ใช่พระศรี ไอ้พวกที่สามารถเดินบนปลายเข็มนับหมื่นเล่มได้ก็ไม่ใช่พระศรี ไอ้พวกที่มันยืนบนปลายหอกปลายดาบได้ก็ไม่ใช่พระศรี ไม่ว่าจะเป็นใครจะมีฤทธิ์มีอำนาจมากแค่ไหนก็ไม่ใช่พระศรี “พระศรีเกิดแล้ว” แต่ในขณะนี้นั้นท่านยังไม่รู้ตัวรู้ตนของท่านเลย เพราะท่านเป็นคนธรรมดาสามัญซึ่งกำลังสร้างสมบุญบารมีเยี่ยงโพธิสัตว์เท่านั้น”
หลวงพ่อทองทิพย์ท่านได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2544 ปัจจุบันสังขารของท่านถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดป่าศรีดาพระรามลักษณ์รัตนโคตร หมู่บ้านฝายแตก อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย